“เสริมศักดิ์” เผยผลโพล “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ปี 2567

“เสริมศักดิ์” เผยผลโพล “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ปี 67 – วันคล้ายวันพระราชสมภพของ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ชี้เด็กไทยรักพระองค์ ทรงทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เสียสละเวลาส่วนพระองค์ และทรงงานหนักเพื่อให้ประชาชนคนไทยของพระองค์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้านวัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ เด็กไทยรักและภูมิใจให้เป็นสุดยอด “มรดกไทย” ส่วนลงแขกเกี่ยวข้าว-ภาษาถิ่น-ลิเก-ลำตัด ควรเร่งช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูมากที่สุด ด้านวธ.พร้อมผลักดันให้มรดกอันล้ำค่าของไทยทุกแขนงไปสู่ระดับโลกมากขึ้น

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อ “วันอนุรักษ์มรดกไทย ปี 2567” จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 16,339 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยผลสรุปปรากฏว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.67 ทราบว่าวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” (2 เมษายนของทุกปี) และโพลชี้ว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่าพระราชสมัญญาของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 3 อันดับแรก ร้อยละ 53.52 องค์เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ร้อยละ 38.40 องค์วิศิษฏศิลปิน ร้อยละ 32.52 พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย และเมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชน ว่าเหตุใด “วันอนุรักษ์มรดกไทย” จึงตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.37 ตอบว่าเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงาน ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ร้อยละ 51.17 เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ ร้อยละ 46.12เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติมากขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนถึงประเด็นการเข้าใจคำว่า “มรดกไทย” อย่างไร ร้อยละ 71.33 ตอบว่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ร้อยละ 54.41 โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์ และดนตรี ร้อยละ 49.78 เป็นการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินไทย นอกจากนี้เด็ก เยาวชน และประชาชนมีความเห็นอยากให้จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้แก่ ร้อยละ 53.95 ให้จัดแสดงนิทรรศการหรือวีดิทัศน์เผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร้อยละ 52.23 จัดลงนามถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร้อยละ 48.83 ทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานที่สำคัญทางศาสนา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชน ว่า รักและภูมิใจใน “มรดกไทย” ประเภทใดมากที่สุด คืออันดับ 1 โบราณสถาน (วัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ฯลฯ) ร้อยละ 22.96 อันดับ 2 ประเพณี (ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีแห่เทียน ประเพณีผีตาโขน ฯลฯ) ร้อยละ 15.85 และอันดับ 3 มรดกภูมิปัญญา (สมุนไพรไทย อาหารไทย เครื่องแต่งกาย นวดแผนไทย กีฬาพื้นบ้าน บ้านทรงไทย ฯลฯ) ร้อยละ 15.76 อีกทั้งได้ถามต่อไปว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่ามรดกวัฒนธรรมไทยประเภทใดที่ควรช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดต่อไป ร้อยละ 52.06 ตอบว่า ประเพณี เทศกาลต่าง ๆ เช่น ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ประเพณีตานต๊อด (การทำบุญด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน) ร้อยละ 49.32 ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ภาษาถิ่น การแต่งกาย (ผ้าโบราณ/ผ้าพื้นถิ่น) อาหาร ศิลปะพื้นบ้าน (ลิเก ลำตัด เพลงฉ่อย) ร้อยละ 46.91 งานศิลปหัตถกรรมที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล ทั้งที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องประกอบยศของบุคคลชนชั้นสูง และเมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าแหล่งเรียนรู้ประเภทใด ที่จะช่วยให้ท่านเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 55.72 โบราณสถาน (วัด วัง โบสถ์ วิหาร มัสยิด ฯลฯ) ร้อยละ 52.69 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยละ 49.45 อุทยานประวัติศาสตร์

นายเสริมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อถามเด็ก เยาวชนและประชาชนว่าหากท่านสามารถที่จะมีส่วนร่วมหรือส่วนช่วยอนุรักษ์มรดกไทย ท่านจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ตอบว่า จะมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งผ่านสื่อออนไลน์ และออนไซต์ ประชาสัมพันธ์การดูแลรักษา การถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับทุกคนได้รับรู้ หรือโดยการค้นคว้า วิจัย ศึกษา และเก็บรวบรวมข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้ มีคุณค่า ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกไทยที่จัดขึ้นโดยภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ การทำความสะอาดศาสนสถาน การเข้าร่วมกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นต้น เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา มรดกวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป นอกจากนี้ได้ถามอีกว่าเหตุใดคนไทยถึงรักสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนใหญ่ตอบว่าพระองค์ท่านทรงทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากมาย ทรงเสียสละเวลาส่วนพระองค์มาดูแลพี่น้องปวงชนชาวไทย และทรงงานหนักเพื่อให้ประชาชนคนไทยของพระองค์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะในหลายด้าน ทรงเป็นยิ่งกว่าศิลปินที่นอกเหนือจากทรงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากสาขาไว้เป็นจำนวนมาก ยังทรงอุปถัมภ์ค้ำชูศิลปิน ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติให้รุ่งเรืองต่อเนื่องมายาวนาน

นายเสริมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วธ. เห็นความสำคัญต่อการรักษา สืบสาน และรักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนมรดกอันล้ำค่าของไทยทุกแขนง ขับเคลื่อนผลักดันงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ของไทย ยกระดับให้เป็นที่รู้จักและเห็นคุณค่าของไทยอย่างกว้างขวางให้เป็นมรดกโลก อาทิ เทศกาลสงกรานต์ อุทยานประวัติศาสตร์ทั่วประเทศ โบราณสถานสำคัญ โขน ซึ่งเป็นการแสดงชั้นสูงของไทย อาหารไทย ผ้าไทย ชุดไทย ตลอดจนศิลปะแม่ไม้มวยไทยอย่าง มวยไทย เป็นต้น อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดและพร้อมเป็นหน่วยงานที่มุ่งเดินทางผลักดันให้มรดกอันล้ำค่าของไทยทุกแขนงไปสู่ระดับโลกมากขึ้นไป