กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. (ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา)

วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟัง ความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. (ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา) โดยมี นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒินำเสนอสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. นำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน (อดีตรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และ คุณกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย โดยมี นายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ (อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นักวิชาการอิสระ และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ฯลฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 400 คน เข้าร่วม

สืบเนื่องจาก กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 ให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงแผนสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม คุ้มครอง ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมสำคัญตามที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ คือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. เพื่อรับรองสิทธิในการแต่งงานและการมีชีวิตครอบครัว (Right to marriage and family life) ให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และและหลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการปรับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้หารือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันจัดทำร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. อย่างต่อเนื่อง โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ คือ การให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เสมือนคู่ชีวิตหญิงชายทั่วไป รวมถึงกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างกัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 12 ครั้ง เพื่อให้การจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นไปอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ สอดคล้องกับ ความต้องการของประชาชน และเป็นไปตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. (ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา) ด้วยเหตุนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก จึงได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. (ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา)” ในครั้งนี้ขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. มีพัฒนาการ อย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ การสร้างครอบครัวอันเป็นพื้นฐานที่ดีของสังคม ความรักที่ไม่มีข้อจำกัดทางเพศ และสิทธิพื้นฐานของประชาชน ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนทั้งในเชิงนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติ โดยในด้านนโยบายได้กำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ได้รับ ความคุ้มครองตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญเชิงนโยบายในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย กระทรวงฯ มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ โดยการหารือกับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆ ที่มีความใกล้เคียงกัน เพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านการปฏิบัติ กระทรวงฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดทำสื่อและกิจกรรมรณรงค์ อบรม เผยแพร่ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้กับสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการต่างๆ ที่กล่าวมา กระทรวงยุติธรรมไม่อาจดำเนินการได้โดยลำพัง การจัดกระบวนการ มีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับการประชุมฯ ในวันนี้ ซึ่งเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ (ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากทุกภาคส่วนได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติฯ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงพัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อสังคมจะได้ตระหนักถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อันจะนำไปสู่การส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้นและเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกมุมมองเพื่อที่จะได้ประมวลผลสรุปการประชุมเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ เพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย สภาพสังคม และบริบทของประเทศไทย รวมถึงมีความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติต่อไป

********************************************