เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดงาน “BETTER THAILAND การปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่ออนาคตประเทศไทย” โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน และบรรยายพิเศษหัวข้อ “การปฏฺิรูปอุดมศึกษา เพื่ออนาคตประเทศไทย” พร้อมมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมงานในครั้งนี้
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ในปัจจุบันเราทุกคนกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย คนในวัยทำงานลดลง คนในวัยเรียนก็ลดลง รวมถึงเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเราปรับตัวไม่ทันจะทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบมาแล้วมีทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาด มีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง คนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาของคนในประเทศ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีการปรับตัวและพัฒนาดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการปรับเปลี่ยนให้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการจัดทำการปฏิรูปอุดมศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งได้แบ่งนโยบายการปฏิรูปออกเป็น 4 เป้าหมายสำคัญ หรือเรียกง่ายๆ ว่า 2 ลด 2 เพิ่ม คือ ลดภาระ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มทักษะ และเพิ่มโอกาส
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ในการลดภาระ คือ ลดภาระของนักศึกษาและผู้ปกครอง ซึ่งจะทำใน 3 ประเด็น คือ 1. ปรับการจัดการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาที่เก่งและมีศักยภาพ สามารถเรียนจบได้เร็วขึ้น อาจจะใช้เวลาเรียนจบเพียง 2 หรือ 3 ปี ได้อย่างมีคุณภาพ เช่น ให้นักศึกษาสามารถลงเรียนรายวิชาต่างๆได้มากขึ้น ในบางรายวิชาเช่น การศึกษาทั่วไป (General Education) อาจจะจัดการเรียนในแพลตฟอร์มออนไลน์ และให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตั้งแต่มัธยมและสะสมการเรียนไว้ในระบบคลังหน่วยกิตและนำมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย 2. สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้กับมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของประเทศได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ และ 3. การส่งเสริมให้นักศึกษามีงานทำในระหว่างเรียน
ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำ คือการทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ตลอดช่วงชีวิต โดยจะทำใน 6 ประเด็น คือ 1. ให้นักเรียนสมัครสอบ TCAS โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2.เปิดข้อสอบเก่า TCAS เพื่อให้นักเรียนฺทุกคนมีโอกาสฝึกทำข้อสอบ 3. ลดการสอบข้อเขียนและเพิ่มการวัดทักษะในรูปแบบอื่นในการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย 4. สนับสนุนให้นักเรียนในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มด้อยโอกาส สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ 5. สร้างระบบการเรียนรู้ออนไลน์ที่มี AI ช่วยสอน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และ 6. จัดทำระบบให้ความช่วยเหลือแก่ นักเรียนที่สอบเข้าได้แต่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
สำหรับการเพิ่มทักษะ จะเน้นการเพิ่มและพัฒนาทักษะให้นักศึกษาและคนไทยทุกคนใน 3 ประเด็น คือ 1. ส่งเสริมให้มีการเรียนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะทางด้านการเงิน ให้แก่นักศึกษาในทุกหลักสูตร 2. ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI และ เมตาเวิร์ส (Metaverse) มาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มทักษะสมัยใหม่ให้กับนักศึกษา และ 3. จัดทำระบบแนะนำการเรียนเพื่อเพิ่มและพัฒนาทักษะ (Upskill/Reskill) ให้แก่นักศึกษาให้มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้งานที่ดี มีรายได้สูงขึ้น
ในด้านการเพิ่มโอกาส โดยแนวทางที่จะเพิ่มโอกาสให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยและประเทศไทยจะทำใน 4 ประเด็น คือ 1.การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานจริงกับภาคเอกชน สร้างโอกาสให้นักศึกษาได้งานทำที่เหมาะสมหลังจบการศึกษา 2. ในการผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน จะให้มีการจัดทำหลักสูตรที่ไม่อยู่ในรูปแบบปกติเพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้รวดเร็ว มีคุณภาพ เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศ ในการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น EV หรือ เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เป็นต้น 3. การทำงานวิจัยที่คมชัดตรงเป้าตามโจทย์ของประเทศ และ 4. การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่สร้างรายได้จากการดึงดูดผู้เรียนจากภายนอกประเทศเข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศ
“ทั้งหมดนี้คือการทำให้การอุดมศึกษาเป็นของทุกคน ให้การศึกษาสร้างอนาคตของคน สร้างอนาคตของประเทศ ที่สำคัญ การปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นและสัมฤทธิ์ผลได้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเต็มที่ของทุกฝ่าย ทั้งกระทรวง อว. มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ นำไปสู่การสร้างทักษะที่ทันสมัย สร้างโอกาสใหม่ๆ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกคน” น.ส.ศุภมาส กล่าว