สหรัฐฯ ชะลอการปรับขึ้นภาษี พาณิชย์เร่งสปีดส่งออกสินค้าศักยภาพ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลประเด็นสหรัฐฯ ประกาศปรับแผนการขึ้นภาษีสินค้าจีน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 13 ส.ค. 62 ว่าสหรัฐฯ ได้ชะลอการขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้บางส่วนออกไป โดยแบ่งเป็น 2 ระลอก คือ รอบแรก 1 ก.ย. 62 (ประมาณ 3,000 กว่ารายการ อาทิ อาหาร (เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ถั่ว เนย เครื่องเทศ) เครื่องดื่ม ยาสูบ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องประดับ และของเล่น ตลอดจนมีสินค้าอื่นๆ เช่น แร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ เหล็ก อลูมิเนียม และมอเตอร์ไซค์) และ รอบสอง 15 ธ.ค. 62 (ประมาณ 500 รายการ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็บท๊อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่นๆ เช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย) โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าการปรับแผนขึ้นภาษีครั้งนี้ เป็นไปตามการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากธุรกิจและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนมิ.ย. 62 ที่ผ่านมา โดยแถลงการณ์ของ USTR ระบุว่าจะยกเว้นการขึ้นภาษี สินค้าที่เกี่ยวกับ สุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศ

สนค. ประเมินว่า การชะลอการขึ้นภาษีครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณดีว่าสหรัฐฯ และจีนอาจหันหน้าเข้ามาเจรจากันอีกครั้ง โดยมีกำหนดการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งหน้าในเดือน ก.ย. 62 และไทยยังมีโอกาสผลักดันสินค้าศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ได้ เพื่อทดแทนสินค้าจีนในกลุ่มสินค้า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะ กลุ่มเกษตรแปรรูป อาหาร (เครื่องปรุงอาหาร และเครื่องดื่ม) เครื่องแต่งกาย และของใช้ในบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาและการขึ้นภาษีที่จะมีผลในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมการค้าโลก รวมถึงการส่งออกของไทยในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ ควรต้องมีมาตรการรุกตลาดสหรัฐฯ และตลาดต่าง ๆ โดยเร็ว เพื่อแข่งกับประเทศอื่นที่คงจะหวังรุกตลาดสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน แต่สินค้าไทยยังมีจุดแข็งในด้านคุณภาพที่ดี เป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งต้องเร่งเสริมความเชื่อมั่นตรงนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า วานนี้ (14 ส.ค. 62) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ. พาณิชย์) ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานสงครามการค้า (War Room) โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์ทางการค้าที่ได้รับผลกระทบระหว่างสหรัฐฯ และจีน ร่วมกันกำหนดมาตรการเชิงรุกและเชิงรับในระยะ 6 เดือน และรายงานความคืบหน้าตาต่อ กรอ. เป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ War Room จะนำเรื่องกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและการส่งออกมาพิจารณาเพื่อปลดล็อคโดยเร็วที่สุด เพื่อที่ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือการทำธุรกิจของภาคเอกชน อาทิ การเจรจาด่านที่ยังค้างท่อ (ด่านแม่สอด ด่านสะเดา2) การเปิดด่านถาวร และการขยายเวลาเปิดด่าน ซึ่งจะได้หยิบยกขึ้นในการเจรจาการค้าชายแดนเร็วๆ นี้ ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กำหนดกรอบตลาดศักยภาพ เพื่อเร่งการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี อาทิ อินเดีย (กลุ่มตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง สนับสนุนควบคู่กับภาคบริการ) จีน (รุกรายมณฑล แต่ละมณฑลลงรายสินค้า) อาเซียน และตะวันออกกลางศักยภาพใหม่ (โอมาน บาห์เรน การ์ตา) ซึ่งได้มอบหมาย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กำหนดแนวทางการส่งออกรายสินค้าในแต่ละตลาด พร้อมกิจกรรมส่งเสริมอื่นๆ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

สิงหาคม 2562