กรมประมง ชูเกษตรกรพอเพียง “นายสัญญา ทาปิน” เป็นเกษตรกรต้นแบบศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่ายด้านการประมง จังหวัดตาก ซึ่งได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเน้นการทำเกษตรด้านการประมงเชิงท่องเที่ยว ซึ่งนำหลักโคกหนองนาโมเดล มาใช้ในพื้นที่ มีการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ผลิตเป็นอาหารเลี้ยงปลา ทำให้ต้นทุนค่าอาหารเลี้ยงปลาลดลง อีกทั้งยังได้เปิดพื้นที่ภายในศูนย์ฯ ให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาตกปลาเพื่อนำไปบริโภคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากนี้ ยังมีการจ้างกลุ่มแม่บ้านในชุมชนเพื่อแปรรูปปลาตะเพียน นำไปจำหน่ายในตลาดชุมชนหรือออกร้าน ตามงานที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้มาสู่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า…กรมประมงได้ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่ายด้านการประมง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและให้บริการทางการเกษตร เป็นกลไกในการบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในเชิงวิชาการให้แก่เกษตรกรในชุมชน รวมทั้งเพื่อพัฒนาและยกระดับ ศพก. เครือข่ายด้านการประมง ให้เป็นต้นแบบที่มีรายได้ด้านการประมงเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันมี ศพก. เครือข่ายด้านการประมง ที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้เป็นศูนย์ต้นแบบแล้ว จำนวน 847 ศูนย์ เพื่อคัดเลือกบุคคลมาเป็นเกษตรกรต้นแบบในแต่ละจังหวัดมาถ่ายทอดความรู้ให้เครือข่ายสามารถนำไปปฏิบัติได้
นายสัญญา ทาปิน เกษตรกรต้นแบบ ศพก. เครือข่ายด้านการประมง จังหวัดตาก ได้รับการคัดเลือกจากศูนย์ต้นแบบจังหวัดตากที่มีการดำเนินกิจกรรมด้านการประมงที่ดีเด่น เป็นผู้ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์ให้แก่คนในชุมชน เช่น การเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สก กุ้งก้ามกราม และการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งภายในศูนย์จะเน้นการทำเกษตรด้านการประมงเชิงท่องเที่ยว มีการจัดสรรพื้นที่การเกษตรแบบครบวงจรและคุ้มค่าตามแนวเกษตรยุคใหม่ จากการนำหลักโคกหนองนาโมเดลมาปรับใช้ในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าเยี่ยมชมศูนย์ดังกล่าว ปีละไม่ต่ำกว่า 500 คน
ในด้านการบริหารจัดการต้นทุน นายสัญญาได้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเน้นการพึ่งพาธรรมชาติ โดยการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลักมาใช้ผลิตอาหารเลี้ยงปลา เช่น ฟางข้าว ผักบุ้ง แหนแดง ผักตบชวา จอกแหน มูลสัตว์ มาหมักรวมกัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสำเร็จรูปลงไปได้ถึง 50% – 60% ทำให้มีผลผลิตด้านการประมงเพิ่มมากขึ้น 25% – 30% และมีรายได้เพิ่มขึ้น เดือนละ 2,000 – 3,000 บาท อีกทั้งยังได้เปิดพื้นที่ภายในศูนย์ฯ ให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาตกปลาเพื่อนำไปบริโภคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้ามาตกปลา เดือนละ 30 – 50 คน และจำนวนปลาที่ตกได้มีน้ำหนักเฉลี่ยเดือนละ 60 – 70 กิโลกรัม ถือเป็นแหล่งอาหารให้แก่คนในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วม โดยการจ้างกลุ่มแม่บ้านในชุมชนเพื่อนำปลาตะเพียนที่ได้จากภายในศูนย์ฯ ไปแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดชุมชนหรือออกร้านตามงานที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้มาสู่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า…กรมประมงมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการที่จะพัฒนา ยกระดับ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ ศพก. เครือข่ายด้านการประมง ให้เป็นศูนย์ต้นแบบที่เป็นแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประมงในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาอาชีพ และช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านการประมงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ สนับสนุน ติดตาม และแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงจะพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กลุ่มวิจัย และพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง โทร. 0 2558 0213, 0 2558 0220