รมว.สาธารณสุขไทย กระชับความร่วมมือ รมว.สาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการดูแลสุขภาพระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ นายทาเกมิ เคโซ (H.E. Prof. Takemi Keizo) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น และกล่าวถึงการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงวิสัยทัศน์อนาคตของประเทศไทยไว้ โดยได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการผลักดันอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การลงทุนพัฒนาวัคซีนป้องกันคางทูม หัด หัดเยอรมัน และสุกใส (Mumps-Measle-Rubella-Varicella) และไข้เลือดออก (Dengue) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งมีสิทธิพิเศษทางการค้าและทางภาษี อีกทั้งยังได้หารือความเป็นไปได้ในการดูแลสุขภาพระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุญี่ปุ่นในประเทศไทย รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน wellness tourism ในประเด็นน้ำพุร้อน ที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาก่อน

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ทางประเทศญี่ปุ่นได้สอบถามความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ซึ่งประเทศไทยได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนในการจัดตั้ง ACPHEED และยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะทำให้ ACPHEED ดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งประเด็นความก้าวหน้าของการเจรจาการจัดทำร่างข้อตกลงในการจัดตั้ง ACPHEED เป็นที่น่ายินดีที่ฝ่ายไทยและอินโดนีเซียได้เห็นชอบต่อร่างข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ฯ แล้ว โดยทางประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความพร้อมในการส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติภารกิจในศูนย์ฯ ดังกล่าวเช่นกัน

“จากการหารือ ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันในทุกมิติ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่าง 2 ประเทศ เช่น การศึกษาวิจัยทางคลินิกในการรักษาโรคมะเร็งที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลร่วมกัน ในลักษณะของโรงพยาบาลพี่น้อง (sister hospital)” นายแพทย์ชลน่านกล่าว