วันที่ 16 มีนาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้นกแก้ว ไข้หวัดใหญ่ โควิด19) ณ ตลาดคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
โดย นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางนิติรัตน์ พูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฯ นำทีมเจ้าหน้าที่ โดยร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่เขตคลองเตย อาทิ สำนักงานเขตคลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 41 คลองเตย อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว จัดกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าว และสำรวจการรับรู้โรคไข้นกแก้วในประชาชน ผลการสำรวจจำนวน 111 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.3 ไม่เคยได้ยินโรคไข้นกแก้วมาก่อน รองลงมา ร้อยละ 20.7 เคยได้ยิน โดยได้ยินจากข่าว และความวิตกกังวลต่อโรคไข้นกแก้วอยู่ในระดับน้อย
นายแพทย์สุทัศน์ กล่าวต่อไปว่า โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ยาก มีนกเป็นพาหะ เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน โดยคนสามารถติดต่อโรคได้จากการหายใจเอาละอองเชื้อ จากสารคัดหลั่ง หรือฝุ่นที่ติดอยู่บนขน และมูลแห้งของนก ผู้ติดเชื้อมักมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง เริ่มมีอาการภายหลังได้รับเชื้อ 5-14 วัน โรคไข้นกแก้วสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ในขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพร่กระจายจากคนสู่คน โดยการหายใจเอาละอองจากการไอหรือจามเข้าไป รวมถึงการรับเชื้อผ่านมือหรือสิ่งของ ที่ปนเปื้อนเชื้อ ผู้ป่วยมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไข้สูง เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อย คลื่นใส้ อาเจียน หากมีอาการไม่มากสามารถดูแลรักษาตนเองที่บ้านได้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อน ส่วนโควิด 19 (COVID-19) เกิดจากเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) แพร่ติดต่อผ่านทางฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่เกิดจากการไอ จาม พูด และการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย มีอาการ เช่น ไข้ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ หากมีอาการไม่มากสามารถดูแลรักษาตนเองที่บ้านได้ หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามความเหมาะสม
“ประชาชนสามารถปฏิบัติตนในการป้องกันโรคไข้นกแก้ว ไข้หวัดใหญ่ โควิด19 ได้ โดยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไม่สบายหรือไปในสถานที่แออัด ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วย หากเป็นกลุ่มเสี่ยง และมีอาการป่วยรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบาก โปรดรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” … นายแพทย์สุทัศน์ กล่าว