อดีตเคยเผาสู่เครือเถาวัลย์ทำเงิน อาชีพใหม่ชาวบ้าน ”หนองเขียว” จังหวัดแม่ฮ่องสอน

อดีตภูเขาหัวโล้นป่าถูกบุกรุกจากการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน แต่หลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดตั้งกลุ่มเตรียมสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงให้กับชุมชนบ้านหนองเขียว ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเฉพาะพื้นที่บ้านหนองเขียวและกลุ่มบ้านบริวาร ทำให้บ้านหนองเขียววันนี้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกพืชผัก สมุนไพรและไม้ผล โดยพืชที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกแทนการทำไร่เลื่อนลอย อาทิ เสาวรส อะโวคาโด กาแฟและพืชไร่คือ ถั่วลายเสือ โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดดูแลเรื่องตลาด พร้อมเสริมองค์ความรู้เรื่องสหกรณ์แก่ชาวบ้านเพื่อจะได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ในอนาคต

“ตอนนี้เริ่มมีการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น เราต้องรีบไปแก้ไข เนื่องจากการปลูกข้าวโพดเป็นการบุกรุกทำลายป่าอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเรียบร้อยก็จะมีการเผา ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่นควัน”

นายบรมัตถ์ ทิพกนก ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงกลุ่มเตรียมสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านหนองเขียว ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเฉพาะพื้นที่บ้านหนองเขียวและกลุ่มบ้านบริการ ที่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU)กับสำนักงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)ได้เข้าไปพัฒนาความยากจนของประชาชน โดยมีเป้าหมายสำคัญอันได้แก่ ลดพื้นที่การบุกรุกทำลายป่า ลดการเผา สร้างความมั่นใจด้านอาหารให้กับคนแม่ฮ่องสอนและยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ล่าสุดทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงและหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯได้เข้าไปพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชผักในโรงเรือน และไม้ผล ได้แก่ อะโวคาโด เสาวรส และพืชกาแฟ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้เป็นอย่างดี

“การลดพื้นที่เผาโดยการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกเสาวรสและอะโวคาโดเพื่อไปทดแทนการปลูกข้าวโพดมันทำให้เขาเผาไม่ได้ ถ้าเขาจะเผา มันจะพังทั้งหมดเพราะในแปลงปลูกมีการวางท่อระบบน้ำไว้หมด ในส่วนพื้นที่แปลงปลูกกาแฟอันนี้ก็ไม่สามารถเผาได้”

นายบรมัตถ์ ยังกล่าวถึงการเพิ่มรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางของโครงการฯปลูกผักในโรงเรือน จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการจำนวน 28 ราย และกำลังขยายผลไปสู่พื้นที่กลุ่มบ้านบริวารต่อไปในอนาคต โดยกลุ่มเตรียมสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านหนองเขียวนั้นได้ถอดองค์ความรู้ทั้งหมดจากโครงการหลวงและพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะโครงการฯบ้านห้วยน้ำใส ต.สบเมย อ.สบเมย โครงการฯบ้านดอยผักกูด ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จะมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาโครงการฯบ้านหนองเขียวด้วย

“โครงการฯนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2566 ตอนนี้คืนรายได้ให้เกษตรกรกว่า 1.6 แสนบาทแล้ว ผลผลิตหลักของที่นี่มีอะโวคาโด ถั่วลายเสือ ส่งขายตลาดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ตั้งเป้าไว้อีก 5 ปีจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ได้ ตอนนี้มีการอบรมองค์ความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ การรวมกลุ่ม การมีวินัยทางการเงินโดยสอนออมเงินในกระบอกไม้ไผ่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนองนโยบายท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพ” ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าว

ปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีทั้งหมด 41 สหกรณ์ มีสหกรณ์ครบทั้ง 7 ประเภท โดยแต่ละสหกรณ์จะกู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์เป็นหลัก เพื่อนำมาดำเนินธุรกิจและช่วยเหลือดูแลสมาชิก ส่วนการพัฒนาอาชีพของโครงการหลวงก็จะมีอยู่ทั้งหมด 4 สหกรณ์ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอแม่ลาน้อยจะมีการส่งเสริมการปลูกพืชผักในโรงเรือนพลาสติกและไม้ผลเมืองหนาว เป็นหลัก

“สหกรณ์ที่อยู่ในโครงการหลวงทั้ง 4 แห่งนั้นไม่มีปัญหาเรื่องตลาด โครงการหลวงเขาดูแลอยู่แล้ว และส่งให้ดอยคำ ส่วนของเราจะต้องหาตลาดเอง โดยตลาดหลักอยู่เชียงใหม่ บางส่วนก็อยู่ในแม่ฮ่องสอน”

นายบรมัตถ์ ย้ำด้วยว่า สำหรับกิจกรรมที่สำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้กับชาวบ้านในการเตรียมจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ อาทิ การทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพด โดยไม่เผาแต่เอามาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ย นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้สมาชิกเปิดพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากบ้านหนองเขียวมีจุดเด่น ในเรื่องสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมด้านการท่องเที่ยวและมีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,400 เมตร ซึ่งอากาศจะเย็นสบายตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ การรักษาวิถีดั้งเดิมของชุมชนคือการเอามื้อสามัคคี เป็นการมาร่วมแรงกัน เช่น การเพาะกล้า การเก็บเกี่ยวผลผลิต เขาจะช่วยกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานลงได้ โดยเรื่องตลาด ทางสหกรณ์ฯจะเป็นคนดูแลให้ทั้งหมด โดยประสานภาคีเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกันเอง และบริษัทผู้ประกอบการทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและต่างพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีหอการค้าแม่ฮ่องสอนและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ที่ช่วยประสานผู้ประกอบการจากส่วนกลางอีกทางมารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มชาวบ้านหนองเขียวอีกด้วย

การสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากชาวบ้านไม่ไปบุกรุกทำลายป่า และลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อไม่ให้มีการเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยหันมาปลูกเสารสและอะโวคาโดเพื่อสร้างรายได้ทดแทน นับเป็นอีกความสำเร็จของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนในการจัดตั้งกลุ่มเตรียมสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงให้กับชุมชนบ้านหนองเขียวและกลุ่มบ้านบริวาร ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาอาชีพ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์