สทนช. เร่งบูรณาการแผนหลักพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บน้ำ ลดผลกระทบท่วม-แล้ง

สทนช. ลงพื้นที่เร่งขับเคลื่อนแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ 3 แห่ง (บึงราชนก บึงสีไฟ และหนองหาร) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บน้ำ ลดผลกระทบท่วม-แล้ง รักษาระบบนิเวศ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำยั่งยืน สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี

วันที่ 15 มีนาคม 2567 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.สกลนคร เพื่อประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ จ.สกลนคร การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน กรมประมง กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เทศบาลนครสกลนคร เทศบาลตำบลท่าแร่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสกลนคร สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร และที่ทำการปกครองจังหวัดสกลนคร ณ ศาลากลางจังหวัดสกลนคร จ.สกลนคร หลังจากนั้นได้ลงสำรวจสภาพพื้นที่โดยรอบหนองหาร ดังนี้ สวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนคร และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ระยะที่ 1 พื้นที่ชุมชนเมืองสกลนคร จ.สกลนคร รวมทั้งติดตามผลการดำเนินการโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ด้วย

รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยได้กำหนดให้เป็นกลยุทธ์สำคัญภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 4 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากจะช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงเป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่สามารถช่วยป้องกันอุทกภัย โดยเฉพาะหนองหาร ที่ลงพื้นที่ในวันนี้ เนื่องจากเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน จึงเป็นพื้นที่รับน้ำที่ช่วยในการชะลอน้ำหลากก่อนเข้าเขตเมืองสกลนครได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการนำมาพิจารณาจัดทำผังน้ำ เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ รวมถึงเป็นขอบเขตตามกฎหมายที่จำเป็นต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบเข้าไปดูแล และดำเนินการตามมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟู และผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้วมีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ประกอบด้วยแผนงาน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การบริหารจัดการและการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านที่ 2 การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงของน้ำ ด้านที่ 3 คุณภาพน้ำตะกอนและรักษาระบบนิเวศ ด้านที่ 4 การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัย ด้านที่ 5 การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ และด้านที่ 6 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 56 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (ปี 2563 – 2572) หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้อีก 67 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ 21,000 ไร่และมีพื้นที่รับประโยชน์ 85,000 ไร่

บึงราชนก จ.พิษณุโลก ประกอบด้วยแผนงาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การบริหารจัดการ ด้านที่ 2 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านที่ 3 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร และด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จำนวน 25 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (ปี 2563 – 2569) หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 28.85 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ 10,575 ไร่ และมีพื้นที่รับประโยชน์ 3,960 ไร่

และ หนองหาร จ.สกลนคร ประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และด้านที่ 5 การบริหารจัดการ จำนวน 62 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (ปี 2563 – 2572) หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 10,857 ครัวเรือน และมีพื้นที่รับประโยชน์ 78,358 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติอีก 2 แห่ง ที่อยู่ระหว่างเสนอ ครม. ได้แก่ เวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย และ กว๊านพะเยา จ.พะเยา ส่วนบึงสีไฟ จ.พิจิตร และคลองหมายเลข 3 จ.ปทุมธานี สทนช.กำลังอยู่ระหว่างการบูรณาการจัดทำแผนหลักร่วมกับจังหวัด ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และ ครม. พิจารณาเห็นชอบตามลำดับ เพื่อเป็นพื้นที่ชะลอและรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ

“ทั้งนี้ ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สทนช.ได้บูรณาการหน่วยงานที่อยู่ภายใต้แผนหลักฯ ของแหล่งน้ำธรรมชาติทั้ง 3 แห่ง ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว เพื่อประชุมหารือและร่วมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่งพบว่าในหลายโครงการมีความก้าวหน้าตามแผน แต่ในบางโครงการมีความจำเป็นต้องปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการส่งเสริมองค์ความรู้ในการติดตามประเมินผล เพื่อให้ทราบข้อมูลเป็นปัจจุบัน (Real Time) โดยให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ มาเป็นกำลังหลักสำคัญร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อให้แผนหลักมีความครบถ้วนสมบูรณ์และบรรลุวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย