กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 10/2567

กสม. ชี้ กรณีประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน – ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก กรณีนักเรียนรุมทำร้ายกันและการให้เด็กถอดเสื้อผ้าในการทำกิจกรรมในโรงเรียน ย้ำโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย

วันที่ 15 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 10/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ชี้กรณีประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เห็นชอบให้บริษัทประกันวินาศภัยขายกรมธรรม์ประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ และปล่อยให้บริษัทประกันวินาศภัย 5 แห่ง ขายกรมธรรม์จนประสบปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ต่อมาบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ คปภ. จึงได้แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เป็นผู้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยของบริษัททั้งสี่ ผู้ร้องเห็นว่า คปภ. คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ กปว. คณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสมและเพียงพอเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อผู้ร้องติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้ยื่นเอกสารเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยประเภท “เจอจ่ายจบ” ผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่งที่ได้ซื้อกรมธรรม์ไว้ ซึ่งต่อมาผู้ร้องต้องยื่นคำทวงหนี้ค่าสินไหมทดแทนต่อ กปว. แทนนั้น ผู้ร้องได้สอบถามความคืบหน้าไปยัง กปว. หลายครั้งแต่ไม่เคยได้รับแจ้ง และเห็นว่าการชำระหนี้คืนเป็นไปด้วยความล่าช้า จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองให้บุคคลมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว และรับรองสิทธิของผู้บริโภค โดยรัฐต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 บริษัทประกันวินาศภัย 36 แห่ง ได้ขายกรมธรรม์ประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมประมาณ 50 ล้านฉบับ โดยมี คปภ. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย ภายหลังปรากฏว่า มีผู้เอาประกันภัยจำนวนมากไม่ได้รับความสะดวกในการขอค่าสินไหมทดแทน มีการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือบอกเลิกสัญญากรณีตามคำร้องนี้เมื่อบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง จาก 5 แห่ง ไม่สามารถชำระค่าสินไหมทดแทนได้และถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดย คปภ. ได้แต่งตั้ง กปว. เป็นผู้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้แทนนั้น ปรากฏว่า มีผู้มายื่นคำทวงหนี้จาก กปว. กว่า 683,000 ราย รวมเป็นเงินมากกว่า 60,000 ล้านบาท แต่เงินกองทุนของ กปว. มีไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถกู้เงินเพื่อนำมาชำระหนี้ได้ ส่งผลให้อาจต้องใช้เวลาถึง 40 ปี จึงจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยทุกรายได้ ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ มีคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5 หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดี การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันภัยยื่นเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง บริษัทยังสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัย 5 แห่ง เสนอขายกรมธรรม์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เห็นว่า บริษัทประกันวินาศภัยย่อมเห็นความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ แต่ยังคงขายกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และประกอบกิจการโดยไม่มีมาตรการรองรับความเสี่ยงหรือประเมินความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของตน จนไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย จึงเป็นการดำเนินการที่กระทบสิทธิของผู้บริโภค อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ กสม. จึงไม่อาจมีข้อเสนอแนะไปยังบริษัททั้งสี่ได้ แต่เห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อบริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5

ประเด็นที่ 2 กรณีที่ คปภ. และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ไม่มีการกำกับดูแลบริษัทประกันวินาศภัยอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้บริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความสะดวกในการยื่นเรื่องขอรับค่าสินไหมทดแทนและติดตามเรื่อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 3 กรณีที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย (ผู้ถูกร้องที่ 9) ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยล่าช้า และไม่แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการ เห็นว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองมีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการแก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ การที่ กปว. ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยล่าช้าและไม่แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการให้ผู้ร้องทราบ จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า

  1. ให้บริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5 เร่งชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย และให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะนายทะเบียนกำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หากบริษัทไม่สามารถชำระค่าสินไหมทดแทนได้ ให้ คปภ. ร่วมกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัด
  2. ให้ คปภ. และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เร่งแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อกำกับดูแลและเข้าแก้ไขปัญหาการดำเนินกิจการของบริษัทประกันวินาศภัยได้อย่างทันท่วงที โดยกำหนดแนวทางในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยที่ร้องเรียนเกี่ยวกับการยื่นขอรับชำระค่าสินไหมทดแทนและมีกระบวนการติดตามเรื่องที่มีประสิทธิภาพ
  3. ให้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย เร่งกู้เงินหรือจัดหาเงินจากสถาบันการเงินตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ในการออกตราสารหนี้และกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการเพิ่มอัตราเงินสมทบจากการขายเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย
  4. ให้กระทรวงการคลังและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเร่งพิจารณาจัดหางบประมาณ แหล่งเงินทุน หรือแนวทางการช่วยเหลืออื่น เพื่อให้ กปว. มีเงินเพียงพอสำหรับนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย

นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปยัง คปภ. และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยขึ้นอีกในอนาคต และกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยจัดทำสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายด้วยถ้อยคำที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้ง แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงบการเงินและรายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย ให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้ ให้หารือร่วมกับ กปว. เพื่อกำหนดประเภทของเอกสารที่ คปภ. ต้องส่งให้ กปว.โดยเร็วหลังจากมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เพื่อให้ กปว. ใช้ประกอบการพิจารณาชำระบัญชีและชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการควบคุมดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ปฏิบัติตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการเยียวยาผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะเดียวกันขึ้นอีกในอนาคต

2. กสม. ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก กรณีนักเรียนรุมทำร้ายกันและการให้เด็กถอดเสื้อผ้าในการทำกิจกรรมในโรงเรียน ย้ำโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่คลิปและปรากฏข่าวเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง กรณีกลุ่มนักเรียนหญิงรุมทำร้ายร่างกายเพื่อนนักเรียนอย่างรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บในจังหวัดมหาสารคาม นครศรีธรรมราช และตรัง และมีกรณีครูให้เด็กอายุ 4 ขวบ ทั้งชายและหญิงถอดเสื้อผ้าบนเวทีเพื่อทำกิจกรรมแข่งขันการแต่งตัวในกีฬาสีของศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความห่วงใยในประเด็นสิทธิของเด็ก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ระบุว่าการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก เด็กจะต้องไม่ถูกแทรกแซงในความเป็นอยู่ส่วนตัว ครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ

กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง (Bully) ทางวาจาอย่างรุนแรง รวมทั้งการรุมทำร้ายร่างกายเพื่อนนักเรียนด้วยกัน นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านร่างกายแล้ว ยังทำให้เด็กที่เป็นเหยื่อได้รับบาดแผลทางจิตใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า หวาดกลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่อยากไปโรงเรียน และมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับสังคมโดยรอบ ขณะที่เด็กผู้กระทำความรุนแรงและเด็กที่มีส่วนร่วมรู้เห็นในเหตุการณ์ ก็อาจคุ้นชินกับวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงดังกล่าว และนำมาสู่ปัญหาสังคมในอนาคต

ส่วนกรณีการจัดกิจกรรมแข่งขันแต่งตัวโดยให้เด็กถอดเสื้อผ้าและเปลือยกายในที่สาธารณะนั้น แม้จะเป็นกรณีที่ครูและผู้ปกครองบางคนไม่มีเจตนาหรือเล็งเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวจะทำให้เด็กอับอาย แต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก ส่งผลกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของเด็กและครอบครัว และอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation)

การที่ผู้ปกครองและผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปเด็กเปลือยกาย แล้วนำไปเผยแพร่หรือส่งต่อในสื่อออนไลน์ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเด็กแล้ว ยังกระทบต่อสิทธิที่จะถูกลืม (Rights to be Forgotten) ด้วย เนื่องจากภาพหรือคลิปจะยังคงอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตและสามารถสืบค้นได้ ซึ่งอาจสร้างปมในใจให้กับเด็กในอนาคต

กสม. เห็นว่า ทุกฝ่ายจะต้องระมัดระวังไม่เผยแพร่หรือผลิตซ้ำความรุนแรง รวมทั้งการละเมิดสิทธิเด็ก นอกจากนั้นสถานศึกษาจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทั้งทางกายภาพและจิตใจ และควรเป็นที่อบรมบ่มเพาะนิสัยให้เด็กคุ้นชินกับวัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรง การไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการศึกษาและการคุ้มครองเด็กควรมีมาตรการเพื่อกำกับดูแล ป้องกัน แก้ไข และเยียวยาปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการใช้ความรุนแรงและการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมในโรงเรียนขึ้นอีก