เยาวชนทีมโรงเรียน “เบญจเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี” คว้าแชมป์โครงงานวิทยาศาสตร์ ชูความหลากหลายสัตว์ในบ่อนาเกลือ

วันที่ 13 มีนาคม 2567  ดร.กรรณิการ์ เฉิน องผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เป็นประธานมอบรางวัลในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อแนวคิดDiscovering local biodiversityผลปรากฏว่าทีมโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี คว้าชัยในโครงงานเรื่อง “ความหลากหลายและความชุกชุมของสัตว์หน้าดินในบ่อนาเกลือ 5 ประเภท บริเวณตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี” พร้อมรับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 10,000 บาท ณ ห้องประชุม IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เผยว่า “การประกวดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ระดับประเทศ ประจำปี 2567 จัดขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ผ่านการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีวิตของเยาวชนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวในท้องถิ่น พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Discovering local biodiversity” ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 200 ทีมจากทั่วประเทศ โดยคัดเลือกมาสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 40 ทีม ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้คว้าชัยในโครงงานเรื่อง “ความหลากหลายและความชุกชุมของสัตว์หน้าดินในบ่อนาเกลือ 5 ประเภท บริเวณตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี” มีสมาชิกในทีม คือ ด.ญ.เปรมญาพร เชาว์ดี ด.ญ.ปุญญพัฒน์ ทองสุข และนายสุขธนัท พรมจิต เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร

“ต้องขอชื่นชมเยาวชนไทยทุกทีมที่เข้าร่วมในโครงการฯ ถือว่าทุกคนมีศักยภาพที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานผ่านโครงงานฯ โดยสามารถสร้างความตระหนักและทำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ท้องถิ่นของตัวเอง หวังว่ากิจกรรมฯ นี้ จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น พร้อมกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกัน รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจต่องานด้านธรรมชาติวิทยา” ดร.กรรณิการ์ กล่าว

ด้าน ด.ญ.เปรมญาพร เชาว์ดี หรือ น้องส้มจีน หนึ่งในตัวแทนทีมชนะเลิศเผยถึงโครงงานนี้ว่า “ที่มาของโครงงานนี้เกิดจากที่เราได้มีโอกาสได้เห็นผลิตภัณฑ์เกลือในชุมชนของตัวเอง เลยเกิดความสงสัยว่าเกลือมีกระบวนผลิตอย่างไรนำไปสู่การที่เราไปลงพื้นที่สอบถามเจ้าของนาเกลือ ซึ่งในระหว่างการเดินทางเราก็ได้เห็นนกชายเลนอพยพเข้ามาในพื้นที่นาเกลือ ก็ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่านกชายเลนเข้ามาในพื้นที่เพื่ออาหารหรือไม่ จึงได้ศึกษาความหลากหลายของสัตว์ทะเลหน้าดินในบ่อนาเกลือ 5 ประเภท และหาดเลน พบว่าบ่อนาเกลือแต่ละประเภทมีความหลากหลายของสัตว์ทะเลหน้าดินแตกต่างกัน และความเค็มของบ่อนาเกลือส่งผลต่อความหลากหลายของสัตว์ทะเลหน้าดิน จึงถือได้ว่านาเกลือเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของนกชายเลน ซึ่งการจัดทำโครงงานฯ นี้ เราอยากจะช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงสถานที่เพื่อการอนุรักษ์สำหรับการชมนกชายเลนหายากที่มีความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น นกชายเลนปากช้อน”

ผลรางวัลการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติวิทยา ประจำปี 2567 มีดังนี้

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีมโรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ จ.แม่ฮ่องสอน กับ โครงงาน “การศึกษาพรรณไม้ที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชนเผ่าละว้า บ้านละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญ.เกศรินทร์ เจริญเต็มเปี่ยม ด.ญ.ปุณยานันท์ เตียงศรี และนายอดิสรณ์ ทานา ครูที่ปรึกษา พร้อมรับโล่และได้รับทุนการศึกษา 7,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ได้แก่ ทีมโรงเรียนสิงห์บุรี กับ โครงงาน “การสำรวจความหลากหลายของปลาน้ำจืดในลำแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญปัลยรัตน์ ขำศรี ด.ญ.ภาพิมล เชตพันธ์ และนางสาวสุกัญญา คุ้ยทรัพย์ ครูที่ปรึกษา พร้อมรับโล่และได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาท

รางวัลพิเศษ 3 รางวัล ได้แก่

รางวัล Interesting presentation ได้แก่ ทีมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กับ โครงงาน “การศึกษาความหลากหลายของนกและปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกอาศัยของนกนางแอ่นอพยพในบริเวณตัวเมืองเชียงราย” สมาชิกในทีม ได้แก่ นายญาณกร พัฒนเชียร ด.ญ.นาโอมิ เงินท๊อก และนายปฏิญาณ จิตร์ลัดดา ครูที่ปรึกษา

รางวัล Practical applicability ได้แก่ ทีมโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จ.ระนอง กับ โครงงาน “การศึกษาความหลากชนิดและความชุกชุมของปูแสมในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดระนอง” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ช.จักรภพ รูปคม ด.ญ.ธมกร เอี่ยวสกุล และนางนภัสกร ฟองฟุ้ง ครูที่ปรึกษา

รางวัล Sustainable approach ได้แก่ ทีมโรงเรียนเพชรวิทยาคาร จ.ชัยภูมิ กับ โครงงาน “การสำรวจและรวบรวมรายชื่อพืชสมุนไพรเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ตำบลบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ” สมาชิกในทีม ได้แก่ ด.ญ.นันทิญา โคตรภูเขียว ด.ญ.ทักษอร รัตนประทุม และนางสาวจณิสตา ประหยัดทรัพย์ ครูที่ปรึกษา