วันที่ 12 มีนาคม 2567 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 11/2567 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ไทยจัดทำข้อสงวนต่อข้อบทที่ 42 (การนำข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ หรือ อนุสัญญาอุ้มหาย (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) และมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำข้อสงวนฯ ดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ต่อไป โดยการจัดทำข้อสงวนตามข้อบท ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ การปฏิเสธไม่ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (The international Court of Justice) มีเขตอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้จัดทำข้อสงวนนี้ไว้ในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนทุกฉบับที่ไทยเป็นภาคี
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบอนุสัญญาฯ ได้ผลักดันให้ประเทศไทยลงนามรับรองอนุสัญญาฯ ตั้งแต่ปี 2555 จากนั้นได้ผลักดันการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เรื่อยมา จนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อมีกฎหมายภายในรองรับครบถ้วนแล้ว ดังนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จึงร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอุ้มหายได้
พันตำรวจเอกทวี กล่าวต่อว่า อนุสัญญาอุ้มหาย ประกอบด้วย 45 ข้อบท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลที่กระทำในนามเจ้าหน้าที่รัฐบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ (อุ้มหาย) ในทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ รัฐต้องกำหนดให้การกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นฐานความผิดตามกฎหมายอาญา กำหนดโทษของความผิดดังกล่าวให้สมกับความร้ายแรง กำหนดให้การอุ้มหายเป็นความผิดที่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ตลอดจนกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและจัดให้เหยื่อและสมาชิกในครอบครัวได้รับทราบความจริง และได้รับการเยียวยาและชดเชยอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอุ้มหาย จะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับสังคม และสร้างความเชื่อมั่นด้านสิทธิมนุษยชนของไทยต่อประชาคมระหว่างประเทศต่อไป