วันที่ 11 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดการประชุมสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้รับบริการ และบูรณาการแผนงานด้านยาเสพติดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีผู้บริหาร จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยากรจากสำนักงาน ป.ป.ส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย. และผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลภาครัฐ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลภาคเอกชน เป็นต้น และเจ้าหน้าที่สำนักยาและวัตถุเสพติด ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟู ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มีความเข้มแข็ง ที่จะให้โอกาสผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สนับสนุนการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ โดยเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านวัตถุเสพติดของประเทศ ให้บริการตรวจพิสูจน์ของกลางยาเสพติด และสารเสพติดในปัสสาวะ ซึ่งนำผลทางห้องปฏิบัติการไปใช้ในการประกอบอรรถคดี บำบัดรักษา และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของยาเสพติด รวมทั้ง ให้บริการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการเครือข่าย เพื่อให้ห้องปฏิบัติการสมาชิกได้ดำเนินการตามระบบคุณภาพ และเพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการสมาชิก ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานแห่งเดียวของประเทศในการเป็นผู้ดำเนินแผนการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 3 แผน ได้แก่ ด้านยา ด้านสารเสพติดในปัสสาวะ และยาเสพติดในของกลาง ได้การรับรอง ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17043 : 2010
ทั้งนี้ ผลการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดของสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565 รวมกว่า 557,481 ตัวอย่าง และปี พ.ศ.2566 ตรวจพิสูจน์สารเสพติด 53,443 ตัวอย่าง ผลิตสารควบคุมคุณภาพชุดทดสอบหาสารเสพติดในปัสสาวะ 2,894 ขวด ให้บริการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการเครือข่าย 750 แห่ง ทั้งนี้ จะเห็นว่ามีจำนวนตัวอย่างส่งตรวจลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งของกลาง ในข้อหาเสพ สามารถดำเนินคดีได้ โดยไม่ต้องตรวจวิเคราะห์ การปลดกัญชา พืชกระท่อม ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และการส่งตรวจปัสสาวะ เพื่อการบำบัดรักษา เป็นระบบสมัครใจ
“การประชุมสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและการให้บริการ ด้านยาเสพติดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล เสริมสร้างองค์ความรู้ ข้อกฎหมาย รับฟังปัญหาอุปสรรค สร้างความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ นำมาพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการ ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีการประชุมกลุ่มย่อยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานด้านยาเสพติดเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงให้ความรู้ในประเด็นที่สังคมกำลังสนใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ มุ่งสู่เป้าหมายในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ” นายแพทย์ยงยศ กล่าว