ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีมติแต่งตั้ง “คมส.” ชุดใหม่ที่มี “นพ.ชลน่าน” เป็นประธาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตาม “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เผยตัวเลข 16 ปีมีข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะรวม 96 มติ บรรลุแล้ว 36 มติ อยู่ระหว่างขับเคลื่อน 43 มติ
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2567 ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกันมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แทนชุดเดิมที่จะครบวาระในวันที่ 13 เม.ย. 2567
สำหรับ คมส. จะมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม พร้อมติดตามความก้าวหน้าและรายงานผล รวมถึงพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่จำเป็นต้องเพิ่มเติม เพื่อเสนอบรรจุเป็นระเบียบวาระในสมัชาสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนพัฒนาการสื่อสารข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เปิดเผยว่า กลไก คมส. นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่ได้รับฉันทมติมาจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ภายในกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งการได้ นพ.ชลน่าน ที่มีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านการแพทย์และด้านสังคม เข้ามาเป็นประธานในการขับเคลื่อนและติดตาม ก็เชื่อได้ว่ามติต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำไปดำเนินการ เพื่อเดินหน้าสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทยได้จริงตามเจตนารมณ์
“กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นกลไกในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากภาคีเครือข่ายจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเด็นจนได้มาซึ่งข้อเสนอที่นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและส่งผ่านไปมีผลถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ยังมีกลไกอย่าง คมส. ในการช่วยติดตามและผลักดันให้ข้อเสนอต่างๆ เหล่านั้น เกิดประสิทธิผลได้มากยิ่งขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า สิ่งสำคัญภายหลังจากที่ได้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปี หรือเรียกว่าผ่านขั้นตอน “ขาขึ้น” มาแล้ว ก็จะเดินหน้าเข้าสู่ “ขาเคลื่อน” คือการนำมติเหล่านี้ไปขับเคลื่อนขยายผลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง คมส. จะเข้ามามีบทบาทหลักให้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกิดพลวัต สอดคล้องกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในสังคม ในส่วนวิธีการสนับสนุนการขับเคลื่อนมติของ คมส. เช่น จัดลำดับความสำคัญของประเด็น จากสถานการณ์และความรุนแรงของปัญหา การหากลไกหลักและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงาน วิเคราะห์ช่องทางการขับเคลื่อนแต่ละมติว่าจะไปในทิศทางใดและจัดทำแผนดำเนินงาน มีการใช้สื่อสร้างกระแสสังคม ตลอดจนจัดการความรู้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างภาคีที่ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ และนำมาพัฒนากระบวนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ภายหลังการแต่งตั้ง คมส. ชุดใหม่ในครั้งนี้ ขั้นตอนถัดไปจะมีการประชุมของ คมส. เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการ” ที่อยู่ภายใต้ คมส. อีกจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมตามประเภทของกลุ่มมติ สามารถประเมินความก้าวหน้าได้อย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง จนสามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คมส. กล่าวว่า นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาแล้วจำนวน 16 ครั้ง (พ.ศ. 2551-2566) โดยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 96 มติ ซึ่งสามารถแบ่งสถานะความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
- กลุ่มมติที่ดำเนินการบรรลุผลตามข้อมติ (Achieved) จำนวน 36 มติ ซึ่งพิจารณาจากการบรรลุเป้าหมายตามข้อเสนอ มีผลลัพธ์สำคัญตาม Road map มีแผนงาน นโยบาย หรือกลไกของหน่วยงานหลักรองรับ มีพื้นที่รูปธรรมมากกว่า 5 แห่ง เป็นต้น
- กลุ่มมติที่กำลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง (O: On-going) จำนวน 43 มติ
- กลุ่มมติที่เห็นควรให้ทำการทบทวน (To be revisited) จำนวน 4 มติ เนื่องจากเป็นกลุ่มมติที่มีการเคลื่อนไหวน้อยหรือหยุดนิ่ง หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเห็นควรนำกลับมาทบทวน/ปรับปรุง/ต่อยอด/ขยายผลใหม่ให้สอดคล้อง เช่น มติที่มีข้อจำกัดในเนื้อหา สถานการณ์ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นเกินกว่าข้อมติจะทำให้เกิดผลได้ เป็นต้น
- กลุ่มมติที่มีมติให้ยุติ (End-up) จำนวน 13 มติ เนื่องจากมีมติใหม่ครอบคลุมมติเดิม หรือไม่สอดรับกับบริบท และสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ภายในวันเดียวกัน ยังได้มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ คณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินการเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่ล่าสุดได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ระยะ 100 วัน, 1 ปี และ 3 ปี โดยมีแนวทาง เช่น พัฒนาแนวทางการตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) ด้วยตัวเอง การควบคุมคุณภาพ การขยายการผลิต การควบคุมราคายา ตลอดจนการนำความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในสถานศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังมีมติรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนในระดับเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ทั้ง 13 เขตพื้นที่ การขับเคลื่อนในระดับจังหวัด การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ตำบล ตลอดจนความร่วมมือเชิงนโยบาย เช่น การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, การขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 กับกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น