นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตพืชอินทรีย์ โดยทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์รับสมัครขึ้นทะเบียนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ ประเมินแปลงเบื้องต้น รวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการประเมินแปลงเบื้องต้น และยื่นขอการรับรองจากหน่วยตรวจรับรองตามความต้องการของเกษตรกร
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง เกษตรอินทรีย์จาก มกษ. 9000 – 2552 เป็น มกษ. 9000 – 2564 โดยปรับข้อกำหนดในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Codex Alimentarius (Codex), ASEAN Standard for Organic Agriculture (ASOA) และสหภาพยุโรป (EU) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยความหมายของเกษตรอินทรีย์ตาม มกษ. 9000 – 2564 หมายถึง ระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวม ที่ช่วยทำให้ระบบนิเวศเกษตรมีความสมบูรณ์ ทั้งนี้ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ และกิจกรรมทางชีวภาพในดิน เกษตรอินทรีย์เน้นการใช้วิธีการจัดการภายในฟาร์ม มากกว่าการเลือกใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกฟาร์ม โดยคำนึงถึงสภาพของภูมิภาคต่างๆ ที่ต้องมีการปรับระบบให้เข้ากับสภาพท้องถิ่น ทั้งนี้ เมื่อเป็นไปได้จะทำให้สำเร็จโดยใช้วิธีทั่วไป วิธีทางชีวภาพ และทางกล แทนการใช้วัสดุสังเคราะห์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักพื้นฐานของการทำเกษตรอินทรีย์ คือการพัฒนาระบบการผลิตไปสู่แนวทางเกษตรผสมผสาน โดยห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้ายาป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมน เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อให้พืชแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคและแมลง ส่วนในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ให้ใช้การเตรียมดินที่ดีและแรงงานคนหรือเครื่องมือกลแทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ใช้สมุนไพรกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ยาเคมีกำจัดศัตรูพืช และใช้ฮอร์โมนที่ได้จากธรรมชาติ เช่น จากน้ำสกัดชีวภาพ แทนการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ นอกจากนี้ยังต้องรักษาความสมดุลของธาตุอาหารภายในฟาร์ม โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมาหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ และป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากนอกฟาร์มทั้งจากดิน น้ำ และอากาศ โดยต้องสร้างแนวกันชน ด้วยการขุดคู หรือปลูกพืชยืนต้น และพืชล้มลุกเป็นแนวล้อมรอบฟาร์ม และควรใช้พันธุ์พืชที่มีความต้านทานและมีความหลากหลาย ห้ามใช้พันธุ์พืชที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรม ทั้งนี้ ควรรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการรักษาพันธุ์พืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น ตลอดจนปลูกขึ้นมาใหม่ส่วนการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ให้ใช้วิธีธรรมชาติและประหยัดพลังงาน และต้องเก็บบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานในสวน/แปลง ไว้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อรอการตรวจสอบ
นอกจากการผลิตพืชอินทรีย์ จะมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและเกิดเป็นความปลอดภัยทางด้านอาหารต่อผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิต และทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เนื่องจากไม่ใช้สารเคมี ทำปัจจัยการผลิตใช้เอง ได้ผลผลิตมีคุณภาพดี ปลอดภัย ได้มาตรฐาน อีกทั้ง ยังเป็นการอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศอีกด้วย ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดสนใจการทำการผลิตพืชแบบเกษตรอินทรีย์ สามารถขอปรึกษาและรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน