นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง พบปะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท และอ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปรับตัวและลดผลกระทบจากปัญหาน้ำน้อย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนใช้การได้ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 66 จำนวน 2,546 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน วันที่ 2 มีนาคม 67) รวมทั้งแนวโน้มสถานการณ์เดือนมีนาคม ต่อเนื่องเมษายน 67 พบว่าจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ และอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ 1-2 องศา (ข้อมูล กรมอุตุนิยมวิทยา) สรุปได้ว่าจะร้อนและแล้งในช่วงเวลาดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวนาปรัง รอบที่ 2 ซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังกล่าว พบว่า เกษตรกรรับทราบถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ รวมทั้งมีความตระหนักและเข้าใจถึงผลกระทบและความเสียหายต่อผลผลิตรวมทั้งการลงทุนที่จะเกิดขึ้น สอดคล้องกับการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เพิ่งเกี่ยวขายข้าวเสร็จเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะงดการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เพื่อรอการส่งน้ำในห้วงวันที่ 1 พฤษภาคม 67 สำหรับปลูกข้าวนาปี ซึ่งจากกรณีดังกล่าวแสดงถึงว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบริเวณลุ่มเจ้าพระยา ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและประเมินความเสี่ยงในอนาคตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตระหนักถึงประโยชน์สาธารณะที่จะต้องเตรียมน้ำต้นทุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขอบคุณเกษตรกรชาวนา ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ที่ให้ความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมการเพาะปลูกข้าวไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ทำความเข้าใจให้เกษตรกรทราบถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งแจ้งขอความร่วมมือให้งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 และยังคงเน้นย้ำ ฝากเตือนถึงเกษตรกรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ผลผลิตอาจเสียหาย ไม่คุ้มทุน อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค รวมถึงการรักษาระบบนิเวศตลอดช่วงฤดูฝน สำหรับพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกพืชอื่นได้ ขอความร่วมมือให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน อาทิ มะเขือเทศ (กำไรเฉลี่ย 36,800 บาทต่อไร่) ฟักทอง (กำไรเฉลี่ย 34,890 บาทต่อไร่) แตงโม (กำไรเฉลี่ย 16,885 บาทต่อไร่) ข้าวโพดหวาน (กำไรเฉลี่ย 7,720 บาทต่อไร่) และถั่วลิสง (กำไรเฉลี่ย 2,644 บาทต่อไร่) หรือพืชใช้น้ำน้อยอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะใช้น้ำน้อยกว่าแล้ว เกษตรกรยังสามารถสร้างกำไรเฉลี่ยได้มากกว่าการทำนาปรัง (กำไรเฉลี่ย 1,572 บาทต่อไร่) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำปรึกษาและคำแนะนำในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง รอบที่ 2 เพื่อวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน-.
หมายเหตุ : กำไรเฉลี่ย (คิดเฉพาะเงินสด) เก็บข้อมูลจากเวทีเกษตรกรโครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร ปี 2566