รพร.ตะพานหิน มุ่งพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาล ประชาชนพึงพอใจกว่าร้อยละ 95 ต่อเนื่อง 9 ปีซ้อน

องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เผย มีการจัดระบบบริการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัย และพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาล ทั้งค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ให้ยาสลายลิ่มเลือด พร้อมเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงบริการ ประชาชนมีความพึงพอใจสูงกว่าร้อยละ 95 ต่อเนื่องถึง 9 ปี

วันที่ 1 มีนาคม 2567  ที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล มอบใบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมมอบถุงของขวัญพระราชทานให้กับผู้ป่วย และให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ให้บริการผู้ป่วยในอำเภอตะพานหินและอำเภอใกล้เคียง มีแพทย์เฉพาะทางครบ 8 สาขาหลัก ได้แก่ สูติกรรม, กุมารเวชกรรม, ศัลยกรรม, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, อายุรกรรม, เวชปฏิบัติครอบครัว, รังสีวิทยา และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ในปี 2566 มีผู้รับบริการรวม 195,767 ราย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการบริการให้ตอบสนองปัญหาสุขภาพในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในทศวรรษที่ 5 เพื่อเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข สร้างชุมชนมีสุขภาวะ ผู้รับบริการมีความสุข บุคลลากรมีความสุข ส่งผลให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจสูงกว่าร้อยละ 95 ต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยปรับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานการอุปัฏฐากพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัย เช่น การจัดสถานที่ จุดพักคอย การแยกสัดส่วนขณะอาพาธ และฝึกอบรมบุคลากรทุกคนให้มีการปฏิบัติต่อพระภิกษุอาพาธอย่างถูกต้อง ได้รับการประเมินมาตรฐานจากโรงพยาบาลสงฆ์ในระดับดีเยี่ยม ในปี 2566 ได้ตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสงฆ์รวม 211 รูป คิดเป็นร้อยละ 81.12 ของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด ผลตรวจเลือดพบความผิดปกติ 72 รูป และเอกซเรย์ปอดพบความผิดปกติ 47 รูป ทุกรูปได้รับการรักษาและติดตามดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 จะมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงบริการ อาทิ การส่องกล้องตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยปี 2566 บริการส่องกล้อง 182 ราย ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ 3 ราย ปี 2567 ตั้งแต่ ตุลาคม 2566 – ถึงปัจจุบัน ส่องกล้องแล้ว 153ราย พบมะเร็งลำไส้ใหญ่ 5 ราย เข้ารับการผ่าตัดแล้ว 3 ราย อีก 2 ราย ประสงค์เข้ารับการรักษาต่อที่กรุงเทพมหานคร, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า ปี 2566 มีผู้เข้ารับการผ่าตัด 152 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 149 ซึ่งจากการติดตามพบว่าผู้ป่วยทุกรายมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นภายใน 6 เดือน, การดูแลรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ได้เพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงยาสลายลิ่มเลือดในช่วงเวลาสำคัญ (Golden Period) ตั้งแต่ ตุลาคม 2566 – มกราคม 2567 ให้ยาไปแล้ว 14 ราย ผู้ป่วย 13 ราย มีการฟื้นตัวดี นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังพัฒนาสู่การเป็น SMART HOSPITAL ที่มีความปลอดภัยสูง นำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพการบริการ ให้สะดวกรวดเร็ว ลดข้อผิดพลาด ประชาชนเข้าถึงบริการและเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตนเองได้สะดวก รองรับการยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว