ที่ประชุมคกก.พัฒนานโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมพิจารณาข้อเสนอ-มาตรการปกป้องเด็กและเยาวชนจาก “บุหรี่ไฟฟ้า” ผุดแนวทางสร้างความรู้เท่าทันพิษภัยและการตลาดบุหรี่ วางเครือข่ายเฝ้าระวัง บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ฯลฯ เตรียมหาฉันทมติบนเวที “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” ช่วง เม.ย.นี้
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมี ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งเตรียมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน มี.ค. 2567 ก่อนที่นำไปสู่การแสวงหาฉันทมติร่วมกันบนเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. 2567 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เกิดการนำไปปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ จะมุ่งเน้นการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้มาตรการที่สำคัญ อาทิ
- บูรณาการการเรียนการสอนรู้เท่าทันพิษภัยและการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหน่วยงานด้านการศึกษาทุกระดับ สร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
- เผยแพร่ข้อมูลภยันตรายผ่านสื่อทุกแขนง และร่วมกันเฝ้าระวังการตลาดบุหรี่ไฟฟ้า
- เฝ้าระวังไม่ให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อทุกประเภท
- ให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ทั้งการขายตามสถานที่ตั้งและที่จำหน่ายในระบบออนไลน์
- เสนอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และลงนามในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย เพื่อยกระดับความพร้อมในการควบคุม
- รัฐสภาและรัฐบาลควรป้องกันการแทรกแซงนโยบายของบริษัทบุหรี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
- ควบคุม ปราบปราม ดำเนินการทางกฎหมายต่อร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจขนส่ง
- เสนอให้ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น สื่อสารให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า สาระสำคัญของข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ถูกรวบรวมมาจากการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนไปแล้วหลายเวทีในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวแทนจากธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์และการขนส่งสินค้า หรือหน่วยงานที่มีบทบาทในด้านการสื่อสารและการบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ
ดร.วศิน กล่าวว่า จากการแลกเปลี่ยนในแต่ละเวที ได้ทำให้พบเห็นถึงมุมมองและประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า อาทิ วิธีจัดการกับพัสดุผิดกฎหมายของบริษัทขนส่งที่มีความแตกต่างกัน การสั่งปิดเว็บไซต์ขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ต้องมีกระบวนการทางศาล ประเด็นการตีความถึงความร้ายแรงของบุหรี่ไฟฟ้าที่จะนำไปสู่การจัดการอย่างเหมาะสม หรือแนวปฏิบัติที่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ยึดมาได้จากเด็กนักเรียนและเยาวชน เป็นต้น
ขณะที่ นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อํานวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ หลายองค์กรได้มาร่วมสะท้อนถึงมุมมองของแต่ละหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ มีกฎหมายแต่ไม่มีอำนาจจับ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะเน้นไปที่คดีร้ายแรง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการทำในเคสบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาและข้อเสนอที่ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นมานั้น ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ จะนำไปเป็นส่วนประกอบในการร่างเนื้อหาข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะมีการนำไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาให้ฉันทมติผ่านกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” ซึ่งจะได้ออกมาเป็นมติที่เข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบโดย คสช. และจะนำไปเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อรับทราบเป็นนโยบายที่จะไปมีผลผูกพันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเผยแพร่งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทบทวนงานวิจัยกว่า 107 ชิ้น ถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายไม่น้อยไปกว่าบุหรี่มวน ขณะเดียวกันในแคนาดาพบว่าจำนวนผู้ที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า จำนวนมากถึง 40% เป็นนักสูบหน้าใหม่ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาบุหรี่ไฟฟ้ามีความร้ายแรงกว่าบุหรี่มวน ดังที่เราได้เห็นการระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนมากมาย
“หลายหน่วยงานอาจมองข้ามปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมองว่ายังมีงานอื่นที่เร่งด่วนกว่า และไม่รู้ว่าต้องจัดการถึงเมื่อไรปัญหาจึงจะจบ แต่บทเรียนจากประเทศอื่นที่มีการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหากสามารถทำงานได้อย่างเกาะติดต่อเนื่อง มีการวางระบบควบคุมการเฝ้าระวังและปราบปรามได้ดี หลังจากนั้นการทำงานก็จะเบาลง เพราะการฝ่าฝืนกฎหมายจะน้อยลงเมื่อเขารู้ว่าภาครัฐเอาจริง ฉะนั้นส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารระดับนโยบายที่จะต้องมีความเอาจริงเอาจังด้วย” ศ.นพ.ประกิต ระบุ