โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จังหวัดแพร่ ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบัน บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เน้นใช้หัตถการและจ่ายยาสมุนไพร ช่วยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปี 2566 ให้บริการไปแล้ว 15,605 ครั้ง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จังหวัดแพร่ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล มอบใบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมมอบถุงของขวัญพระราชทานให้กับผู้ป่วย และให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 60 เตียง ดูแลประชากร 34,094 คน และอำเภอใกล้เคียง มีแพทย์เฉพาะทาง 2 สาขา ได้แก่ อายุรกรรม และเวชศาสตร์ครอบครัว ได้นำการแพทย์แผนไทยและการฝังเข็มมาให้บริการร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเน้นการใช้หัตถการและจ่ายยาสมุนไพร ในปี 2566 มีผู้รับบริการ จํานวน 15,605 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 22.76 ให้บริการหัตถการและรักษาผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตระยะกลาง ด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร้อยละ 37.63 ทําให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกทั้งยังมีผลงานทางวิชาการ เช่น การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของทิงเจอร์พญายอกับครีมเบตาเมทาโซน ในการรักษาผิวหนังอักเสบจากพิษแมลงก้นกระดก ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทงานวิจัย Oral Presentation ในการประชุมวิชาการเขตสุขภาพที่ 1 ประจําปี 2566 Next step: One Region One Health นอกจากนี้ ยังเป็น 1 ใน 5 โรงงานผลิตยาสมุนไพรของภาคเหนือ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพรขององค์การอนามัยโลก ในปี 2566 สามารถผลิตและกระจายยาสมุนไพรให้โรงพยาบาลในจังหวัดแพร่ มูลค่ารวม 4,211,915 บาท และยังเป็นโรงงานผลิตกัญชาแห่งแรกและแห่งเดียวของภาคเหนือที่ผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานการผลิตจาก อย. สามารถผลิตและจําหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย ยังได้ขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข อาทิ โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy )จำนวน 250 คน ถวายการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนาในเขตอำเภอเด่นชัย และอำเภอใกล้เคียง จำนวน 107 รูป เชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ได้โลหิต 187 ยูนิต และมีการพัฒนา Digital Transformation เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ ภายใต้การบูรณาการนโยบาย Smart Hospital นโยบาย 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และการเป็นโรงพยาบาลแห่งความสุข (Hospital Happiness Strategy) โดยผ่านการประเมินเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยต้นแบบ ระดับเพชร ในปี 2567 ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกรวดเร็ว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการ ลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอย รวมถึงได้รับการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตนเองได้ ผู้รับบริการมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 83.28 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 85.42 ในปี 2566