ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เพื่อติดตามสถานการณ์แรงงานในทุกสามเดือนหรือรายไตรมาส โดยข้อมูลจากการสำรวจฯ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดแรงงานไทย รวมทั้งนำข้อมูลจากการสำรวจฯ มาจัดทำตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการว่างงานและตลาดแรงงานของประเทศ
สถานการณ์แรงงานในไตรมาส 4 ปี 2566 ประชากรวัยแรงงานจำนวน 59.0 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.7 ล้านคน หรือร้อยละ 69 ของประชากรวัยแรงงาน โดยเป็นผู้มีงานทำจำนวน 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 6.6 แสนคน ซึ่งผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหารเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวของผู้มีงานทำสูงถึงร้อยละ 8.0 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศ
สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสนี้ดีขึ้น โดยมีจำนวนผู้ว่างงานลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เหลือเพียง 3.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือกลุ่มผู้ที่ว่างงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนลดลงถึง 5 หมื่นคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เหลือเพียง 6 หมื่นคน
ส่วนประเด็นที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ ภาคเกษตรกรรม ไม่เกิน 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ และนอกภาคเกษตรกรรม ไม่เกิน 24 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งในไตรมาสนี้ มีผู้เสมือนว่างงานประมาณ 2 ล้านคน (1.98 ล้านคน) ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ประมาณ 1.2 แสนคน
โดยสรุปแล้วสถานการณ์ผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2566 มีการปรับตัวในภาพรวมดีขึ้น ทั้งการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำ การลดลงของผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน รวมถึงปัญหาการว่างงานระยะยาวที่ลดลงด้วย