รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนุนสถาบันพระบรมราชชนกพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อชุมชน มุ่งเน้นบูรณาการพันธกิจสร้างบัณฑิตให้มีจิตวิญญาณของงานปฐมภูมิ, ส่งเสริมการสร้างสุขภาพด้วย สบช.โมเดล และสร้างเครือข่ายกับสถาบัน/องค์กรระดับประเทศและนานาชาติ
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการสร้างชุมชนสุขภาวะด้วย สบช. โมเดล 2022 : 1 วิทยาลัย 1 ชุมชน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (2565 – 2567) ปีงบประมาณ 2567 และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการสนับสนุนให้สถาบันพระบรมราชชนกสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อชุมชน” ตลอดจนเปิดงาน PBRI Cloud University การจัดการศึกษาสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา สถาบันพระบรมราชชนก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และวิทยากรภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมกว่า 450 คน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การทำงานของสถาบันพระบรมราชชนกแสดงถึงบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ด้วยหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่มีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายสุขภาพกับเครือข่ายของชุมชน อีกทั้งมีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาและผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ ในศตวรรษที่ 21 ดังเห็นได้จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพในระบบบริการปฐมภูมิของประเทศไทย หรือ 9 หมอ จำนวน 62,000 คน ระยะเวลา 10 ปี วงเงินกว่า 37 ล้านบาท เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่น เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ลดความแออัดในการรับบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ช่วยประเทศลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนสถาบันพระบรมราชชนกให้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยมาตรฐานระดับโลกเพื่อชุมชน “World Class University For Primary Care” โดยมุ่งเน้นเสริมแนวคิดใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.บูรณาการพันธกิจด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม และบริหารจัดการแก่สังคม จนได้บัณฑิตที่ทําและมีจิตวิญญาณของ “งานปฐมภูมิ” ทุกมิติให้มากที่สุด ตามปณิธาน “ปัญญาเพื่อชุมชน” สู่สากล 2. สนับสนุนส่งเสริม “สร้างสุขภาพ นํา ซ่อมสุขภาพ” สู่งานสาธารณสุขมูลฐาน ทั้งโรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อ ตลอดจนโรคอุบัติใหม่และอุบัติภัย ด้วย สบช.โมเดล (PBRI Model) บริการปฐมภูมิสู่ชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นชุมชนสุขภาวะที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน และ 3.เผยแพร่ความรู้ ผลการดำเนินงานและสร้างเครือข่ายกับสถาบัน องค์กรระดับประเทศและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการบูรณาการพันธกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กับการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วย “สบช.โมเดล” ใช้แนวคิดปิงปองจราจรชีวิต 7 สี และมาตรการ 3 อ. 3 ล. โดย 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ และ 3 ล. ได้แก่ ลดเหล้า ลดบุหรี่ และลดอ้วน ในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยในการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ผลการดำเนินงานตามแนวคิด สบช.โมเดล ในการพัฒนาองค์กรด้านการจัดการศึกษา การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และเชิดชูวิทยาลัยในสังกัดที่นำแนวคิด สบช.โมเดลไปบูรณาการในการดำเนินงานครอบคลุมทุกพันธกิจ ในปี 2566