อันตรายจากโรคเชื้อราที่เล็บ

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยเชื้อราที่เล็บเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย เป็นเชื้อราชนิดกลากแท้หรือกลากเทียมที่เล็บ จากการสัมผัสดินหรือพื้นผิวที่สกปรก หรือติดเชื้อจากบริเวณอื่น หรือใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น การเป็นเชื้อราที่เล็บนี้จะทำให้เล็บหนา รูปร่างผิดปกติ และยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็นเชื้อราที่เล็บด้วย

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เชื้อราที่เล็บเกิดจากการสัมผัสดินหรือพื้นผิวที่สกปรก หรือติดเชื้อจากบริเวณอื่นหรือใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น ซึ่งการป้องกันจากโรคเชื้อราที่เล็บนั้น ควรรักษาความสะอาดของมือเท้า และเล็บอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้กรรไกรตัดเล็บ หรือรองเท้าและของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ม่ควรเดินเท้าเปล่าบนดินหรือพื้นผิวสกปรก และควรเลือกรองเท้าหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ถ้าสังเกตเห็นโรคเชื้อราขึ้นตามผิวหนังบริเวณอื่น เช่น มือ เท้าและลำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่าง ถูกวิธี เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อราที่เล็บหรือที่ผิวหนังบริเวณอื่นตามมา

แพทย์หญิงชินมนัส เลขวัต นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเชื้อราที่เล็บมีลักษณะเล็บที่หนาขึ้นและเปลี่ยนสีเป็นสีขาว เหลือง น้ำตาลหรือดำ มีรูปร่างผิดปกติ ใต้เล็บเป็นขุย และถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นอาจมีอาการเจ็บที่เล็บได้ ซึ่งการรักษาโรคติดเชื้อราที่เล็บนั้น เมื่อพบว่าตนเองเป็นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อรา จะใช้เวลา 2 – 3 เดือน สำหรับเล็บมือ และ 3 – 4 เดือน สำหรับเล็บเท้า ผู้ป่วยที่รับประทานยาควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และต้องระมัดระวังในการรับประทานยาฆ่าเชื้อราควบคู่กับการรับประทานยาชนิดอื่นเพราะอาจมีผลกระทบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก ในกลุ่มนี้อาจต้องได้รับการรักษาทั้งยารับประทานและยายาทาฆ่าเชื้อราควบคู่กัน ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ผู้ที่มีการตอบสนองไม่ดีต่อการรักษา เช่น โรคเบาหวานที่ยังควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี โรคที่มีผลต่อหลอดเลือดปลายนิ้ว ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #เชื้อราที่เล็บ