สธ.กาญจนบุรี ใช้ระบบ Telemedicine ขจัดอุปสรรคการเข้าถึงบริการ ช่วยผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่ รพ.พหลฯ ภายในวันเดียว

รัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข เผย หน่วยงานสาธารณสุขใน จ.กาญจนบุรี มุ่งแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยระบบ Telemedicine ระหว่าง โรงพยาบาลชุมชน กับโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์หลายครั้ง และได้รับการผ่าตัดภายในวันเดียวแล้วกลับมาพักฟื้นใกล้บ้าน ลดภาระค่าเดินทาง พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพหน่วยบริการในเครือข่าย มีทีม Sky Doctor ส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินจากสุขศาลา ไปโรงพยาบาลได้ทันเวลา เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จ.กาญจนบุรี เป็นจังหวัดมีความแตกต่างของบริบทพื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่เขา เช่น อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี ซึ่งการเดินทางเข้าเมืองต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง บางพื้นที่ต้องเช่าเหมารถครั้งละ 2,500 บาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้วางระบบเครือข่ายโรงพยาบาลในการให้บริการ เช่น การผ่าตัดในรูปแบบ One Day One visit One stop service “เริ่มที่อำเภอ เจอที่พหลฯ จนได้ตัดไหมในอำเภอ” ซึ่งเป็นการนำระบบ Telemedicine มารวมกับระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery) โดยจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจ LAB ผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลชุมชน จากนั้นพบแพทย์โรงพยาบาลอำเภอ พร้อมกับศัลยแพทย์/วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ผ่านระบบ Telemedicine เพื่อประเมินความพร้อม ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว และนัดหมายวันผ่าตัด หลังผ่าตัดจะมีกระบวนการดูแล ประเมินความพร้อม ก่อนส่งกลับมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และติดตามอาการใน 24 ,48 และ 72 ชั่วโมง พร้อมทั้งพบศัลยแพทย์เจ้าของไข้ผ่านระบบ Telemedicine ที่โรงพยาบาลอำเภอ ไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า จ.กาญจนบุรี ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เป็นการทำงานแบบ One Province One Hospital ที่มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จากปกติที่ผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลในเมืองประมาณ 4 ครั้ง ถึงจะได้รับการผ่าตัด ก็พบแพทย์เตรียมการผ่านระบบ Telemedicine แทน ก่อนเดินทางเพื่อไปรับการผ่าตัดครั้งเดียว ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยและญาติได้อย่างมาก นอกจากนี้ ยังพัฒนาเครือข่าย Sky Doctor ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษาทันเวลา เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีทีมปฏิบัติการลำเลียงทางอากาศ 4 ทีม ได้แก่ โรงพยาบาลสังขละบุรี โรงพยาบาลทองผาภูมิ โรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ และ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ช่วงปีงบประมาณ 2563-2566 มีการส่งต่อ 22 ราย เป็นผู้ป่วยวิกฤติ 10 ราย ผู้ป่วยเร่งด่วน 12 ราย โดยส่งจากหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สุขศาลาบ้านจะแก สุขศาลาบ้านทิไล่ป้า สุขศาลาบ้านปางสนุก ไปยังหน่วยบริการทุติยภูมิ คือ โรงพยาบาลสังขละบุรี และ โรงพยาบาลทองผาภูมิ และมีระบบประสานกับศูนย์ Refer โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่เกินศักยภาพ