รพ.เทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ใช้เครือข่ายสุขภาพจิต อ.แม่แจ่ม ติดตามผู้ป่วยขาดนัดได้ครบ 100%

องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานของโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีผลสำเร็จการใช้กลไกความร่วมมือของเครือข่ายสุขภาพจิตอำเภอ ติดตามผู้ป่วยขาดนัดมารับการรักษาได้ครบ 100%

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ติดตามการดำเนินงานของโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ฟังผลการพัฒนางานสำคัญ ให้กำลังใจบุคลากรในการปฏิบัติงาน พร้อมมอบของเยี่ยมให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ โดยมี นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์จักร์ชัย ติตตะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ผู้บริหารระดับพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา หรือโรงพยาบาลแม่แจ่ม (เดิม) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน ขนาด 60 เตียง จำนวน 2 หลัง โดยได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล และพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา” พร้อมทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูลขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้ป่วยที่มีความเดือดร้อน จัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ ระบบสนับสนุน ระบบ Smart hospital เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 250 คนต่อวัน โรคที่พบมากในผู้ป่วยนอก ได้แก่ ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคกระเพาะ และกล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนผู้ป่วยใน ได้แก่ ภาวะผิดปกติของเกลือแร่และสารน้ำ ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคปอดอุดกั้นแบบเรื้อรัง ตามลำดับ

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูลฯ มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในด้านสุขภาพจิต ยาเสพติด และสาธารณสุขพื้นที่เฉพาะ โดยมีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษา 1,390 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยขาดนัด 108 ราย แยกเป็น โรคซึมเศร้า 33 ราย โรคจิตเภทและโรคจิตประสาท 14 ราย และผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อความรุนแรง (SMIV) จำนวน 38 ราย ได้ใช้กลไกความร่วมมือของเครือข่ายสุขภาพจิตอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ รพ.สต.และ PCU ทุกแห่ง, อสม. แต่ละหมู่บ้าน, เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแต่ละหมู่บ้าน ออกเยี่ยมบ้านและโทรติดตามกรณีขาดนัด ทำให้สามารถติดตามผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทั้งหมด และยังจัดบริการบำบัด รักษา ฟื้นฟูผู้เสพฝิ่นและเฮโรอีน 859 คน โดยใช้ยาเมทาโดนระยะยาว มีการจัดตั้งชุมชนบำบัด (CBTx) ในหมู่บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม และมินิธัญญารักษ์ แบบ Home ward หลังจากรักษาระยะเฉียบพลัน/กึ่งเฉียบพลัน (Acute/Subacute care) แล้ว จะทำการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Intermediate care) ต่อเนื่องที่บ้าน เพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว นอกจากนี้ ยังใช้ระบบตรวจสอบบุคคล Biometrics ในผู้ป่วยต่างด้าวและเขตรอยต่อ พร้อมคืนกลับข้อมูลยังพื้นที่ข้างเคียง