วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงผลสำเร็จโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 เตรียมพร้อมนำ กลไกการแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยการ “นำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ต้องนำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเลือกทุนทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์เนื้อหาทางวัฒนธรรม การเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัล การเผยแพร่ การทำการตลาด ตลอดจนแนวทางการคืนประโยชน์ไปยังเจ้าของทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้าถึง และตระหนักถึงศักยภาพของมรดกทางวัฒนธรรม การสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรม Digital Content ที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของตลาด มีแหล่งทุนสนับสนุน ส่งเสริมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม Digital Content เพื่อสร้างสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดและสื่อสารมรดกทางวัฒนธรรมของไทยในระดับนานาชาติ ในฐานะที่เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ
“ความต้องการในการนำมรดกทางวัฒนธรรมของไทยมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่สนใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่เหตุที่มรดกทางวัฒนธรรมยังไม่สามารถสร้างรายได้เชิงประจักษ์ได้นั้น เป็นเพราะ “ทุนทางวัฒนธรรมไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้ ในการสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ” จึงจำเป็นต้องมี “กลไกการแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” ด้วยการ “นำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” สำหรับโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลักด้วยกัน ได้แก่ กิจกรรมหลักที่ 1) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งจัดประชุมไปทั้งสิ้น 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่การระดมความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและกำหนดโจทย์ที่ชัดเจน การกำหนดเป้าหมายและออกแบบนโยบายหรือมาตรการ ตลอดจนการนำเสนอ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้มาตรการ หรือข้อเสนอแนะดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และกิจกรรมหลักที่ 2) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) ในการสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ภายใต้หัวข้อ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล”
ที่มุ่งเน้นในการถ่ายทอดแฟชั่นไทย สู่รูปแบบดิจิทัล ทั้งสาขาเทคโนโลยี และสาขาสื่อมัลติมีเดีย จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประเภทประชาชนทั่วไป ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศกว่า 60 ทีม จำนวนรวมทั้งสิ้น 287 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจำนวน 40 ทีม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การสร้างสรรค์ผลงาน การถ่ายทอดเรื่องราว และฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content โดยจัดแข่งขันรอบนำเสนอผลงานและรอบสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทีมที่คว้ารางวัลสูงสุดจากการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีม Fash.Design โดยรับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งส่งผลงานเข้าแข่งขันในสาขาเทคโนโลยี ประเภทประชาชนทั่วไป นำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดไทยท้องถิ่นและชุดไทยดั้งเดิม ที่ขาดทักษะด้านออนไลน์และภาษาต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยี AI สร้าง Virtual Model และดิสเพลย์ที่สวยงาม แปลได้ 70 ภาษา และเชื่อมต่อ e-commerce กว่า 30 แพลตฟอร์มทั่วโลก เพื่อปลุกพลัง Soft Power แฟชั่นไทย ก้าวไกลสู่ตลาดสากล” นายภุชพงค์ฯ กล่าว
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 2 กิจกรรมหลักตามที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ภายใต้โครงการฯ ยังได้มีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ในการส่งเสริมการนำเข้าข้อมูลวัฒนธรรมไทยสู่ระบบดิจิทัล ได้แก่ ระบบสารสนเทศด้านวัฒนธรรมและแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map Thailand) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ Platform คลังข้อมูล “วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ” (นวนุรักษ์) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) อีกด้วย และหวังว่าการดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ในระยะที่ 2 นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของไทย และจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างสรรค์และผลักดันอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต
อีกทั้งในงานแถลงข่าวดังกล่าว ยังมีกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” โดยตัวแทนจากภาครัฐ อาทิ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในมุมมองการใช้ Soft Power เพื่อต่อยอดสร้างผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น จุดแข็งและจุดอ่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content เพื่อส่งเสริม Soft Power รวมไปถึงตัวแทนจากภาคเอกชนกับการใช้ Soft Power ในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดของโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 ได้ที่ www.hackulture.com