กรมประมง เปิดติวเข้ม! “Post – harvest Practice Workshop for Fisheries Cold Chain Development” แก่เจ้าหน้าที่ประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการประมง ในภูมิภาคอาเซียนและฮ่องกง จาก 11 ประเทศ

กรมประมง จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายหลังการจับสัตว์น้ำ หลักสูตร “Post – harvest Practice Workshop for Fisheries Cold Chain Development” ระหว่างวันที่ 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล บางนา กรุงเทพ และฟาร์มในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มความรู้ และศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการประมง ในภูมิภาคอาเซียนและฮ่องกงจาก 11 ประเทศ ในเรื่องการจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายหลังการจับสัตว์น้ำ การควบคุมคุณภาพปลาทั้งกายภาพและเคมี กลไกการเสื่อมสภาพของปลา และการประเมินอายุการเก็บรักษาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ประมง

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญ และเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาซึ่งเป็นอาหารที่เน่าเสียง่าย จึงควรมีระบบห่วงโซ่ความเย็นหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค ประกอบกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการห่วงโซ่ความเย็นของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่นำมาใช้ และปรับเปลี่ยนเพื่อการจัดการห่วงโซ่ความเย็นและโลจิสติกส์สินค้าประมงในปี พ.ศ. 2566 กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง จึงได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการห่วงโซ่ความเย็นภายหลังการจับสัตว์น้ำ (Post-harvest Practice Workshop for Fisheries Cold Chain Development) โดยเน้นไปที่ปลากะพงขาว ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีการเพาะเลี้ยงมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยมี ดร.ชุติมา ขมวิลัย ผู้อำนวยการกองวิจัยเเละพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เป็นประธานพิธีเปิด ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการประมง ในภูมิภาคอาเซียนและฮ่องกง จาก 11 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐสิงคโปร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นในสินค้าปลากะพงขาวในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน

โฆษกกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จะมีการเยี่ยมชมการปฏิบัติงานการจับสัตว์น้ำ ณ ฟาร์มเลี้ยงปลากะพงขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้เชิญวิทยากรผู้คร่ำหวอดด้านการจัดการและพัฒนา ห่วงโซ่ความเย็นที่จะมาให้ข้อมูลเชิงลึก จากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสิงคโปร์ พร้อมทั้งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิ การพัฒนาห่วงโซ่ความเย็นในเอเชีย แนวทางการจัดการห่วงโซ่ความเย็นในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงในภูมิภาคอาเซียน แนวคิดพื้นฐานของการรักษาคุณภาพสัตว์น้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวประมงมีแนวทางการเก็บรักษาผลผลิตสัตว์น้ำให้มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์น้ำ อีกทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายโดยรวมของข้อตกลงการค้าอาเซียน – ฮ่องกง (AHKFTA) แผนยุทธศาสตร์ขององค์กรสาขาต่าง ๆ ของอาเซียน และ AEC Blueprint ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนให้เติบโตมากยิ่งขึ้นต่อไป