รองนายกฯ สมศักดิ์ เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการน้ำและคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชน” ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ท้องถิ่นในพื้นที่นำร่อง จ.กาฬสินธุ์ โดยความร่วมมือของ สทนช. และ สวทช. เร่งผลักดันการเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน มุ่งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการน้ำและคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชน” ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมทั้ง นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดกาฬสินธุ์ กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ และภาคประชาชน เข้าร่วมการอบรม พร้อมด้วยวิทยากรจาก สทนช. ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายให้แก่ผู้เข้าร่วม ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ การสร้างความมั่นคงของน้ำอุปโภคและบริโภคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. จัดทำแผนขับเคลื่อนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติ ในเรื่องการสร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งวิเคราะห์ข้อมูล เสนอแนวทางบริหารจัดการคุณภาพน้ำประปา แนวทางสำหรับประปาหมู่บ้าน และการของบประมาณพัฒนาระบบประปาที่มีความจำเป็น เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีคุณภาพจากการผลิตน้ำประปาที่ได้มาตรฐานโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ หนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้ คือการเสริมองค์ความรู้และศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับผู้นำชุมชน ในการจัดการน้ำและคุณภาพน้ำ จึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการน้ำและคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สทนช. และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ระบบประปาหมู่บ้าน และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาและการพัฒนาวัสดุกรองน้ำจากวัสดุที่มีในพื้นที่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นในการร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้กับผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนผู้ดูแลระบบประปาของชุมชน โดยมี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ประสบปัญหาเสี่ยงขาดแคลนน้ำและคุณภาพน้ำ เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก
ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สทนช. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการนำแผนดังกล่าวลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกตามนโยบายของรัฐบาล โดยการลงพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ สำรวจสภาพปัญหาด้านน้ำ และเร่งหาแนวทางในการลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาเสี่ยงขาดแคลนน้ำและปัญหาคุณภาพน้ำประปาต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่ง สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและน้ำบาดาลให้พร้อมใช้เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาและทำการเกษตร ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและปรับปรุงระบบการผลิตน้ำประปาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานน้ำอุปโภคบริโภค โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการในระดับชุมชนเป็นลำดับแรก
“นอกจากนี้ ได้มีแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยอิงฐานระบบนิเวศประกอบกับวิถีทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ ภายใต้โครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่าง สทนช. กับ สวทช. โดยการอบรมจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 – 20 ก.พ. นี้ โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือและความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันในทุกภาคส่วน จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปถึงเป้าหมายของการสร้างความมั่นคงน้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย