กรมประมง จับมือร่วมกับหน่วยงาน AFMA เครือรัฐออสเตรเลีย จัดติวเข้มเกี่ยวกับ MCS เพื่อต่อยอดและเสริมสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน

กรมประมง ร่วมกับ หน่วยงาน Australian Fisheries Management Authority (AFMA) เครือรัฐออสเตรเลีย จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “The 2nd Workshop on the Innovation of Fisheries Monitoring, Control, and Surveillance (MCS) Analytics, and Utilization for Fisheries Analyst” ระหว่างวันที่ 19 – 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สำนักงานฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นการฝึกอบรมเกี่ยวกับดำเนินการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมง (MCS) เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ด้าน MCS จากเครือรัฐออสเตรเลีย โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้ เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้าน MCS

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงไทยได้ดำเนินการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring, Control, and Surveillance : MCS) ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง หรือศูนย์ FMC ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของกรมประมงในการตรวจสอบ ติดตามเรือประมง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน MCS ของประเทศไทย โดย MCS ประเทศไทยได้มีมาตรการครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการตรวจสอบ ณ ท่าเทียบเรือ การตรวจสอบกลางทะเล การเฝ้าระวังโดยอากาศยานไร้คนขับ และการเฝ้าระวังทางไกลผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้แก่ ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) ระบบ Electronic Monitoring System (EM) และระบบ Electronic Reporting System (ERS)

ในขณะเดียวกัน เครือรัฐออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการดำเนินการตามมาตรการ MCS มาอย่างยาวนาน รวมทั้งได้มีความร่วมมือกับรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรระดับภูมิภาค/ระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์จากเครือรัฐออสเตรเลียจะสามารถสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินการตามมาตรการ MCS และสามารถสร้างแฟ้มคดีที่มีประสิทธิภาพเพื่อการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ ดังนั้น กรมประมงจึงได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมประมงที่ปฏิบัติงานด้าน MCS จำนวน 25 ราย ร่วมกับหน่วยงาน Australian Fisheries Management Authority (AFMA) เพื่อให้สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานด้าน MCS เสริมสร้างความรู้จากการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้าน MCS ได้แก่ 1) การวิเคราะห์และการใช้งานระบบ GPS เพื่อสนับสนุนการจัดทำหลักฐานสำหรับการดำเนินคดีในชั้นศาล 2) มาตรฐานสากลของระบบการติดตามเรือ VMS และ AIS 3) มาตรฐานสากลในการใช้งานระบบการเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring System : EM) ฟังก์ชั่น ที่เป็นประโยชน์ในเรือประมงและการประเมินความเสี่ยง และ 4) มาตรฐานสากลสำหรับผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer Onboard) อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing : IUU) ระหว่างกรมประมงไทยและหน่วยงาน AFMA เครือรัฐออสเตรเลียอีกด้วย