สธ.มหาสารคาม จัดมหกรรมตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพิ่มการเข้าถึงบริการ เนื่องในวันมะเร็งท่อน้ำดีโลก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดมหกรรมตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องในวันมะเร็งท่อน้ำดีโลก ประจำปี 2567 ที่ จ.มหาสารคาม เผยไทยอันดับ 1 มะเร็งท่อน้ำดีในกลุ่มประเทศอาเซียน เหตุจากพยาธิใบไม้ตับ เร่งตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ค้นหาผู้ป่วยส่งเข้ารับการรักษา ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร ภาพรวม 30 จังหวัดเสี่ยงสูง คัดกรองพยาธิใบไม้ตับแล้ว 1.1 แสนราย คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีกว่า 1 หมื่นราย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่วัดพุทธวนาราม (วัดป่าวังน้ำเย็น) อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดมหกรรมตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องในวันมะเร็งท่อน้ำดีโลก ประจำปี 2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม คณะผู้บริหาร ภาคีเครือข่าย และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประเทศไทย มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุหลักมาจากการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่ 30 จังหวัดเสี่ยงสูง ตั้งแต่ปี 2559 ตั้งเป้าหมายลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับให้น้อยกว่า 1% ภายในปี 2568 และลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีลง 2 ใน 3 ในปี 2578 ผ่านมาตรการการเฝ้าระวัง โดยตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 15 ปีขึ้นไป และตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป พร้อมระบบส่งต่อเข้ารับการวินิจฉัยรักษา,
การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนและสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มต่างๆ, การจัดระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลเพื่อตัดวงจรพยาธิ, การรณรงค์อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมในการป้องกันควบคุมโรคและการรักษา

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในปี 2567 ภายใต้นโยบาย “มะเร็งครบวงจร” โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็น 1 ใน 5 มะเร็งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ มุ่งเน้นการคัดกรองโรคในกลุ่มเสี่ยงเพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยใช้นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ (OV-Rapid Diagnostic Test) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังพัฒนารถพระราชทานตรวจโควิดมาใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดีด้วยอัลตร้าซาวด์เคลื่อนที่ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองอย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 สามารถตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ 117,246 ราย และตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีแล้ว 10,632 ราย และในวันนี้ ได้จัดบริการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับให้กับประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ด้วยชุดตรวจ OV-RDT จำนวน 4,000 ราย พร้อมจ่ายยาฆ่าพยาธิ รวมทั้งตรวจอัลตราซาวด์มะเร็งท่อน้ำดี ทราบผลและให้คำแนะนำหลังตรวจทันที จำนวน 600 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้าน ดร.สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ประชาชนภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารแบบดิบหรือสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะเมนูอาหารที่ทำมาจากปลาเกล็ดขาววงศ์ปลาตะเพียน ซึ่งมีระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับอยู่ โดยจากการตรวจปัสสาวะพบอัตราการติดเชื้อใน 30 จังหวัดเสี่ยงสูง อยู่ที่ 42% ส่วนเขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) ภาพรวมอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 37% โดยมหาสารคามมีอัตราการติดเชื้อสูงสุด การจัดมหกรรมในครั้งนี้ จึงมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้ถึงภัยของโรคนี้ และที่น่ายินดี คือ ในวันนี้ยังได้จัดกิจกรรมทอดผ้าป่ามหากุศลเพื่อสมทบทุนกองทุนเพื่อการป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยจะนำไปใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีให้หายขาดอีกด้วย