ติดสปีดความพร้อมบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เฟสสอง “ชลน่าน” เผย หลายจังหวัดผลงานดีตั้งแต่ก่อนคิกออฟ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดความพร้อม 8 จังหวัด เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวระยะที่ 2 เผย หลายจังหวัดทำผลงานได้ดีก่อนถึงกำหนดคิกออฟเดือนมีนาคม “พังงา” ประชาชนกว่าครึ่งยืนยันตัวตนแล้ว “นครราชสีมา” บุคลากรยืนยันตัวตน 95% เทเลเมดิซีนสูงสุด 1.1 หมื่นครั้ง “สระแก้ว” ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลสูงสุดเกือบ 3 หมื่นใบ “หนองบัวลำภู” นัดหมายออนไลน์สูงสุด 1,489 ครั้ง จัด Health Rider ครบทั้ง 6 รพ. กำชับจัดทำแผนดำเนินงาน รุกใช้สื่อโซเชียลสร้างความเข้าใจประชาชนในการใช้บริการ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ว่า การดำเนินงานระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ประชาชนให้การตอบรับอย่างมากเนื่องจากช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการใกล้บ้าน ขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะงานด้านเอกสาร จากการเชื่อมโยงระบบข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR) สำหรับการเดินหน้าต่อในระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ซึ่งตั้งเป้าจะคิกออฟในเดือนมีนาคมนี้ ในส่วนของการเชื่อมโยงประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR) โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน 8 จังหวัดรวม 96 แห่งดำเนินการครบถ้วนแล้ว และแต่ละจังหวัดยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในหลายๆ เรื่อง อาทิ พังงา ประชาชนยืนยันตัวตนแล้ว 52%, นครราชสีมา บุคลากรทางการแพทย์ยืนยันตัวตน 95% ให้บริการการแพทย์ทางไกลสูงสุด 11,517 ครั้ง, สระแก้ว ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลสูงสุด 29,594 ใบ, หนองบัวลำภู ให้บริการนัดหมายออนไลน์สูงสุด 1,489 ครั้ง และจัดบริการส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider ครบทั้ง 6 โรงพยาบาล

“เห็นได้ว่า 8 จังหวัดนำร่องในระยะที่สอง ขณะนี้มีความพร้อมในการดำเนินการอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้เร่งจัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดได้เข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารับบริการผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และสามารถสอบถามรายละเอียดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยเน้นสื่อรูปแบบอินโฟกราฟิก และช่องทางโซเชียล เช่น Tiktok ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ รวมทั้งออกหน่วยบริการประชาชนในการยืนยันตัวตน Health ID เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการรักษา และติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนการดำเนินงานใน 8 จังหวัดนำร่องต่อไป” นพ.ชลน่านกล่าว