วธ. ชวนชมนิทรรศการผ้าตีนจกของโบราณสืบทอดมานับร้อยปี เรียนรู้ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ไทยวน เที่ยวงาน “มหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า อำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567” 14-18 ก.พ. 67
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า อำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567” โดยมี นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการจัดงาน ประชาชนชาวอำเภอแม่แจ่ม แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ณ เวทีกลางหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ภายในงานพบกับขบวนเปิดงานมหกรรมฯ และการประกวดรถขบวนผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า
จากนั้นปลัดวธ.พร้อมคณะ เดินชมนิทรรศการแม่แจ่มยั่งยืน คืนชีวิตให้แจ่ม แบบบูรณาการและเยี่ยมชมนิทรรศการผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า ลานวัฒนธรรม บ้านชนเผ่า การละเล่นพื้นบ้าน/ชนเผ่า (พิธีขึ้นบ้านใหม่ของ พี่น้อง ชนเผ่าทั้ง 4 ชนเผ่า คือ ชนพื้นเมือง ชนเผ่าม้ง ชนเผ่าล้ำวะ ชนเผ่ากะเหรี่ยง) ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม
นางยุพา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จึงได้สนับสนุนการจัดงานมหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่าอำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่พี่น้องชาวอำเภอแม่แจ่ม ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่งดงาม ผ้าตีนจกแม่แจ่มเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่แจ่มและจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้ง อำเภอแม่แจ่ม นอกจากจะมีผ้าตีนจกที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังมีศิลปภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมชนเผ่าที่งดงาม ที่สมควรได้รับการส่งเสริมและอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับอำเภอแม่แจ่มสืบไป ทั้งนี้ งานดังกล่าวจึงนับเป็นการส่งเสริมอาชีพของประชาชนในอำเภอแม่แจ่ม ให้สามารถพัฒนาเป็นอาชีพหลัก ส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอแม่แจ่มด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์อย่างแท้จริง อีกทั้งการต่อยอดหลังจากการเปิดงานในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเป็นหน่วยงานผลักดัน สนับสนุน ฟื้นฟู และคุ้มครองงานภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภูมิปัญญา ที่มีเอกลักษณ์ของชาวชาติพันธุ์ ชนเผ่าต่างๆ สอดคล้องกับรัฐบาลที่มุ่งให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ หรือเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ได้ให้คำปรึกษาและดำเนินงานคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…
ด้านนายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม คณะกรรมการจัดงานฯงานมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม กล่าวว่า งานมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2537 มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งการจัดงานในปี 2567 นี้ นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 29 ชื่องานว่า “งานมหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า อำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ลานหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่แจ่ม และลานหน้าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่แจ่ม เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าอำเภอแม่แจ่ม ศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมชนเผ่าแม่แจ่ม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอำเภอแม่แจ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติแม่ครูผ้าทอและผู้ก่อตั้งการจัดงานผ้าตีนจกแม่แจ่มด้วย
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ตลอดการจัดงานทั้ง 5 วัน มีนิทรรศการมากมายให้เลือกชม อาทิ นิทรรศการภูมิปัญญาท้องถิ่น ลานวัฒนธรรมบ้านชนเผ่า นิทรรศการผ้าตีนจกและผ้าทอชนเผ่า นิทรรศการแสง สี เส้นทอ และนิทรรศการโครงการหลวงในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ม่วนอกม่วนใจ๋ไปกับความบันเทิงภายในงาน อาทิ การประกวดธิดาผ้าตีนจก และธิดาชนเผ่าและไทใหญ่ การประกวดรำวงย้อนยุค กิจกรรมการแสดงชนเผ่า ขบวนแห่ผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า การเดินแฟชั่นโชว์ผ้าตีนจกและผ้าชนเผ่า แบบโบราณและแบบประยุกต์ การประกวดธิดาจำแลงแม่แจ่ม การแสดงดนตรีของเยาวชนอำเภอแม่แจ่ม พร้อมชวนช้อปร้านจำหน่ายสินค้าของโครงการหลวง การออกร้านจำหน่ายผ้าตีนจก ผลิตภัณฑ์กลุ่มโอทอป และ ผลิตภัณฑ์ชนเผ่า กาดมั่วคัวฮอม ณ สาธารณสุขอำเภอแม่แจ่ม
ทั้งนี้ แม่แจ่ม เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งมีเทือกเขาถนนธงชัยและ ดอยอินทนนท์ล้อมรอบ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่สำคัญของภาคเหนือ นับเป็นหนึ่งในชุมชนไม่กี่แห่งของไทยที่ยังคงรักษาและสืบทอดมรดกพื้นเมืองซิ่นตีนจก และ ผ้าทอหลายประเภท อันเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทั้งความงดงามและความหมาย วิถีชีวิตของ คนแม่แจ่ม ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศรัทธาต่อศาสนา
“ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” เป็นงานหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้านของผู้หญิงในอำเภอแม่แจ่มที่เกิดจากฝีมือการทออย่างประณีตตามกรรมวิธีการทอและการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยเทคนิคการจกแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของกลุ่มชนชาวไทยวนในอำเภอแม่แจ่ม ทำให้เกิดเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของชาวแม่แจ่มที่มีความงดงาม เป็นผ้าซิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนที่อื่น มีความละเอียดประณีต ลวดลายอ่อนช้อย มีความหมายในตัวเอง ความประณีตของลวดลายเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุมมีกฎเกณฑ์ บางผืนอาจซ่อนเร้นเรื่องราวและเนื้อหาที่สามารถเล่าขานถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน การตั้งถิ่นฐาน เชื้อชาติ สภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ และประเพณี นอกจากนี้ยังเป็นผ้าทอที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สันนิษฐานว่าซิ่นตีนจกแม่แจ่มน่าจะมีขึ้นในยุคสมัยที่พุทธศาสนาของล้านนามีความเจริญรุ่งเรือง จากลวดลายของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิด ความเชื่อทางพุทธศาสนา จากองค์ประกอบของซิ่นตีนจกแม่แจ่มจะปรากฏลวดลายต่างๆ เช่น โคม ขัน นาค หงส์ น้ำต้น สะเปา อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อทางพุทธศาสนา