วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีปรับปรุงและเพิ่มเติมให้ได้มาตรฐานในระดับสากล พร้อมตอบโจทย์ประเทศด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างในประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาและอุปสรรคในการขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกำหนด ทำให้ขาดโอกาสแข่งขันในการเข้าร่วมประมูลในโครงการของรัฐและเอกชน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสาธารณูปโภคที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต อำนวยความสะดวกของประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างยังมีความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกับอีกหลายภาคเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ เหล็ก วัสดุก่อสร้างอื่นๆ อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มากกว่า 2แสนล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 ของ GDP อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมฯดังกล่าวมีบทบาทในทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ในวันนี้ วศ.อว. จึงได้จัดงาน “ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างไทย สร้างเศรษฐไทยให้ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการภายในประเทศให้ได้รับการรับรองทางคุณภาพและสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการภายในประเทศ เพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงบริการของหน่วยตรวจสอบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและโลกอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้มีคุณภาพ เพิ่มความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความปลอดภัย มุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
วศ.อว. ได้ร่วมมือกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวน 11 มาตรฐาน และในปี 2567 กำลังดำเนินการจัดทำอีก 4 มาตรฐาน และการจัดงานในวันนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ มุ่งเน้นให้ความรู้ถึงคุณลักษณะที่ต้องการและวิธีการทดสอบของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการในการยื่นขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมคอนกรีตแห้งสำเร็จรูป ตามมอก.3202-2564 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมคอนกรีตแห้งสำเร็จรูปสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล ตาม มอก. 3203-2564 ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการจำหน่ายสองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมากกว่า 600 ล้านบาท
นอกจากนี้ได้จัดพิธีมอบโล่เกียรติคุณเพื่อแสดงความขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมดำเนินการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ รวมถึงผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับ วศ. แล้วประสบความสำเร็จได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในนามของ วศ. ต้องขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล และขอชื่นชมในความตั้งใจ เสียสละแรงกาย แรงใจ พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะนำไปขยายผลต่อยอดในอนาคตต่อไป ประกอบด้วย
“หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพวัสดุก่อสร้างไทย”
1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
2. กรมชลประทาน
3. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
4. บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด
5. บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท เซ็มกรีต จำกัด
“หน่วยงานทรงคุณค่าในการพัฒนาสินค้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการอย่างต่อเนื่องและสัมฤทธิ์ผล”
1. บริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด
2. บริษัท เซ็มกรีต จำกัด
3. บริษัท ไวท์คลาวน์ จำกัด
4. บริษัท ควิกโคท โปรดักส์ จำกัด
วศ.อว. ขอบคุณทุกพลังความร่วมมือในการส่งเสริมความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย สร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้ประชาชน