ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมหารือการอนุญาตและการตรวจสอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้า ณ ห้องประชุมกุลาดำ ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting โดยมีเจ้าหน้าที่กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต และผู้แทนจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เข้าร่วมประชุม
โดยเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ปัจจุบันกรมประมงเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและการสำแดงเอกสารเท็จ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง เช่น การสุ่มทวนสอบเอกสารประกอบการนำเข้ากับประเทศต้นทาง และการเปิดตรวจสินค้า ณ สถานประกอบการ เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือและทำความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนในเรื่องของการแสดงเอกสารประกอบการขออนุญาต และการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ณ สถานประกอบการ กรณีการนำเข้าอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
ดร.ถาวร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมประมงได้ชี้แจงประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 โดยการนำเข้าต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) หรือสำเนาการแจ้งนำสินค้าออกจากต้นทาง (Custom Clearance) หรือสำเนาใบขนสินค้าขาออก (Custom Declaration) หรือใบรับรองการส่งออกสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ออกจากหน่วยงานของภาครัฐ เอกสารที่ไม่ได้ออกจากหน่วยงานของภาครัฐ สามารถนำมาใช้ประกอบเท่านั้น สำหรับเอกสารที่ไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษ จะต้องจัดทำคำแปลเอกสารให้เป็นภาษาไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบเอกสารประกอบการพิจารณาอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามกรมประมงจะหารือกับภาคเอกชนในรายละเอียดการแปลเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อลดผลกระทบในเรื่องของระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ณ สถานประกอบการกรณีการนำเข้าอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กรมประมงได้ดำเนินการยกระดับการตรวจสอบการนำเข้า โดยดำเนินการเปิดตรวจสินค้าร้อยละ 100 จึงได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยในขั้นตอนการอนุญาตนำเข้า ผู้นำเข้าต้องระบุสถานที่เก็บสินค้าในใบอนุญาตนำเข้าตามกฎหมายประมงให้ตรงกับสถานที่เก็บอาหารตามที่ปรากฎในใบอนุญาตนำเข้าหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายอาหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร.ถาวร รองอธิบดีกรมประมง กล่าว