สกร. ลุยวางกลยุทธ์ใหม่ ตอบโจทย์การพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ในพื้นที่ทรงงานและพื้นที่สูง

นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบหมายให้ นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการและมอบนโยบายการจัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และพัฒนาแนวทางการดำเนินงานของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยมอแกน ในพื้นที่โครงการ กพด. และ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ในพื้นที่สูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหารระดับจังหวัด อำเภอ ครู และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมน่านกรีนเลควิว รีสอร์ท อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2567

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร จาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บรรยายในหัวข้อ “ทิศทางการศึกษาไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้” และเปิดเวทีเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนคิด และเสนอแนวทางการทำงานกับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ผู้แทนศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบและแรงงานข้ามชาติ กรมอนามัย ผู้แทนจากคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้แทนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยคร่ำหวอดในการขับเคลื่อนงานของ สกร.ในอดีต เพื่อเชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายการพัฒนาแนวทางการทำงานในการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ในพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมให้มีประสิทธิภาพต่อไป

นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล กล่าวว่า การจัดทำแผนเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ต้องให้ความสำคัญกับแผนทั้ง 3 ระดับ โดยต้องมีความเชื่อมโยงแผนสู่การปฏิบัติ และประเด็นที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จะต้องให้ความสำคัญ คือ การเพิ่มและกระจายโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้อย่างทั่วถึง การจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาระบบบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ “ประชาชนได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม ได้รับการพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นอย่างเต็มศักยภาพ เหมาะสมกับช่วงวัย และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเกี่ยวกับนโยบาย Thailand Zero Dropout เพื่อให้เด็กนอกระบบที่มีอายุ 3-18 ปี จำนวน 1.02 ล้านคน ได้รับการติดตามช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ให้เด็กเยาวชนกลับสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เพื่อมุ่งเป้าหมายให้เด็กเยาวชนเป็นกำลังคนที่สร้างงาน/สร้างอาชีพเป็นกำลังของพื้นที่ นอกจากนี้ จะมีการทำ MOU ความร่วมมือระหว่างกระทรวง เพื่อก้าวสู่การค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในห้วงเดือนเมษายน ถึง มิถุนายนในปีนี้ ในส่วนของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มีความเห็นว่า เป็นพระราชบัญญัติที่มีความก้าวหน้า มีความยืดหยุ่นมาก มีบทบาทหน้าที่ที่กว้างมากขึ้นในการจัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ ตามมาตรา 6 ทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ สามารถตอบโจทย์การจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี ช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะกฎหมายกำหนดให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ ให้คนทุกกลุ่มที่อยู่นอกระบบสถาบันการศึกษา มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น และสิ่งที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยน คือ ความคิดที่ต้องไม่ใช่แบบเดิม ให้มองว่าเป็นภารกิจท้าทาย ยิ่งใหญ่ และต้องปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกทั้งสามรูปแบบข้างต้นให้มากขึ้น เพราะการทำงานกับเด็กเยาวชน และกลุ่มที่ขาดโอกาสหรือแรงงานนอกระบบ ต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย เพื่อที่จะเอื้อให้เขาได้มีโอกาสได้เลือกเรียนตามความสนใจ และความถนัดของตนเอง รวมถึงการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั่วถึงและตรงกับความต้องการมากที่สุด