เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 พลตำรวจโท นายแพทย์ธนา ธุระเจน ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ ครั้งที่ 2/2567 ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมนำคณะกรรมการการแพทย์ ฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ ณ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ถนนเศรษฐกิจ 1 ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมกับคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม นางชณิการ์ โกวะประดิษฐ์ ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร นายอมรพันธ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส คณะผู้บริหาร บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ
นายแพทย์ธนา ธุระเจน ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม กล่าวกับสื่อมวลชนในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินโครงการฯ ว่า ผมในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฯ โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งหวังให้ผู้ประกันตนได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศ เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดความเจ็บป่วย ก่อนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะไม่กระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน
โดยคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการการตรวจสุขภาพ พร้อมจัดกิจกรรมติดตามและประเมินผลสุขภาพ ให้แก่ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ มาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2566 ที่ผ่านมา ในช่วงแรกได้นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ต่อมาได้ขยายเพิ่มเติมอีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา สงขลา และสุราษฎร์ธานี รวมเป็น 13 จังหวัด โดยได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 1,959 แห่ง และได้รับความร่วมมือจากสถานพยาบาลเข้าร่วมบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 15 แห่ง
จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว มีผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพทั่วประเทศ จำนวน 282,052 ราย พบว่า ผู้ประกันตนมีผลตรวจปกติ (ความเสี่ยงน้อย) จำนวน 27,488 ราย (ร้อยละ 9.75) และผลตรวจผิดปกติ (ความเสี่ยงปานกลาง/ความเสี่ยงสูง) จำนวน 254,465 ราย (ร้อยละ 90.25) ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มที่พบความผิดปกติจะได้รับความรู้และเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ในปี 2567 การดำเนินการโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากผลเลือด (น้ำตาล-ไขมัน) และปัจจัยพฤติกรรม (การนอน การออกกำลังกาย) พบว่า มีผู้ประกันตน มีความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในระดับปานกลาง – สูง จำนวน 35,207 คน (ร้อยละ 90) ของจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 38,549 คน และผู้ประกันตนประมาณ 30,500 คน (ร้อยละ 80) ตัดสินใจเข้ารับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำสุขภาพจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งในวันนี้ นายแพทย์ธนา ธุระเจน ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ ณ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นบริษัทที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามโครงการฯ จนเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของผู้ประกันตนอย่างเห็นได้ชัด และผลักดันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องกับผู้ประกันตนที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่งผลให้มีผู้ประกันตนรับรู้ความเสี่ยงและดำเนินการลดน้ำหนักได้จำนวนมาก ค่าไขมันและค่าน้ำตาลลดลง อยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่น่าพอใจ จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ฯ เป็นโมเดลการดูแลสุขภาพที่เห็นผลและใกล้ชิดกับผู้ประกันตนในสถานประกอบการเห็นได้อย่างชัดเจน
นอกจากโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ สำนักงานประกันสังคมยังมี “โครงการให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” นำร่องการรักษาผู้ประกันตนประเภทผู้ป่วยใน ด้วยการผ่าตัดหรือการทำหัตถการใน 5 โรค โดยที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการทางการแพทย์ไปแล้ว จำนวน 76 แห่ง ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาและประเมินจากกรรมการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วว่ามีศักยภาพและมีมาตรฐาน มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการทำหัตถการแล้ว จำนวน 14,428 ราย แบ่งเป็น หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด 8,802 ราย หัตถการนิ่วในไต และถุงน้ำดี 2,675 ราย การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 215 ราย การผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูกและหรือรังไข่ 2,580 ราย หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 156 ราย (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
ด้วยเหตุผลนี้ เพื่อสร้างสุขภาพดีที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ประกันตน คณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของบอร์ดประกันสังคม จึงขยายระยะเวลาการดำเนินการโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ ต่อไปอีก 6 เดือน (ถึงเดือนมิถุนายน 2567) และจะมีการติดตามประเมินผล เพื่อต่อยอดกับบริการอื่น ๆ พร้อมพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบในการจัดบริการทางการแพทย์ ในกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ประกันตน
นายบุญสงค์ เลขาธิการ สปส กล่าวในตอนท้ายว่า ผมมีความเชื่อมั่นว่า โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนในวัยแรงงาน ให้ดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทำให้แรงงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง สำนักงานประกันสังคมยินดีให้การสนับสนุนดูแลสุขภาพผู้ประกันตน เพราะทุกท่านคือ “คนในครอบครัวประกันสังคม”
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
สายด่วนประกันสังคม 1506 บริการ 24 ชั่วโมง