วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้สั่งการให้ นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (พังงา) พร้อมด้วย นายสุริยะ สอนเสริม ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่ร่วมกันเฝ้าติดตามสถานการณ์หลุมฟักไข่เต่ามะเฟือง บริเวณหาดท่าไทร อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หลังตรวจพบมีลูกเต่าฟักไข่ พร้อมโผล่หัวขึ้นมาจากหลุม
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 20.46 น. เจ้าหน้าที่ ทช. ได้เฝ้าติดตามจนกระทั่ง เวลา 21.35 น. ลูกเต่าก็ได้ทยอยขึ้นปากหลุมและคลานออกจากปากหลุมเรื่อยๆ โดยเจ้าหน้าที่กรม ทช. จึงทำการเก็บลูกเต่าใส่ภาชนะเพื่อฆ่าเชื้อที่เตรียมไว้ จำนวน 37 ตัว และขุดช่วยเหลือลูกเต่าในหลุมอีก จำนวน 40 ตัว รวมลูกเต่า ทั้งสิ้น จำนวน 77 ตัว ทั้งนี้ ได้นำลูกเต่าปล่อยลงสู่ทะเล จำนวน 52 ตัว และได้มอบลูกเต่าให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) เพื่อนำไปอนุบาล จำนวน 25 ตัว
ซึ่งเจ้าหน้าที่กรม ทช. ได้ทำการตรวจสอบไข่ทั้งหมดพบว่าลูกเต่าตายโคม 2 ตัว และไข่ไม่ได้รับการผสม 12 ฟอง มีการสรุปผลการฟักมีอัตราการฟัก 100 % อัตราการรอดตาย 97.47 % สำหรับรังฟักไข่เต่ามะเฟืองรังนี้ แม่เต่าขึ้นวางไข่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 จำนวนไข่ 91 ฟอง ย้ายหลุมฟัก รวมระยะการฟัก 55 วัน อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่แม่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน หากพบเจอแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ หรือพบเจอไข่เต่าทะเล ให้รีบแจ้งเบาะแสมายัง 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเพื่อประสานงานกับหน่วยงานของกรม ทช. ในแต่ละพื้นที่เพื่อเร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป