วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดฝึกอบรมโครงการเพิ่มศักยภาพนักดำน้ำเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล หลักสูตร “การดำน้ำเบื้องต้น” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผช.รมต.ทส.) มอบนโยบายการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมกันนี้ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผอ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมด้วยนายวีระพันธ์ุ ทองมาก ผอ.ส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทสงทะเล นางศรีสุดา เงินรุ่งเรือง ผอ.ส่วนบริหารทั่วไป และคุณชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง นางแบบและนักแสดง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรม ทช. คณะครูสอนดำน้ำ และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรม ณ พื้นที่เกาะสาก และเกาะริ้น จังหวัดชลบุรี
ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผช.รมต.ทส.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะทะเล ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายมองข้ามกันไม่ได้ โดยได้กำหนดให้ปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับกำหนดแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม อันนำมาสู่กิจกรรมและโครงการที่ร่วมกันบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดปริมาณและป้องกันการเกิดขยะขึ้นใหม่ ในการนี้ รมว.ทส. ได้สั่งการให้ตนลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งตนได้ร่วมดำน้ำสำรวจระบบนิเวศทางทะเลและเก็บขยะตามแนวปะการัง ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สื่อมวลชน นางแบบ นักแสดง และอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อสร้างฐานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้มีความหลากหลายมากขึ้น ผ่านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้ประชาชนเกิดการรับรู้และความเข้าใจ เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเดินทางไปท่องเที่ยวสัมผัสความงามของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยาน ภูเขา ป่าไม้ หรือทะเล เราควรตระหนักรู้และใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เมื่อนำขยะเข้าไปในพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ควรเก็บกลับออกมาด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการเกิดขยะใหม่ รวมถึงลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ และลดอัตราการตายของสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหายาก อันเกิดจาการการกินขยะพลาสติก ดังนั้น การร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากหลายๆ ภาคส่วน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือแม้แต่ตัวนักท่องเที่ยวเอง ไม่ควรผลักภาระความรับผิดชอบให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรมีการสร้างข้อบังคับ กฎระเบียบ ให้ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติจะสะอาด สวยงาม น่าสัมผัสแล้ว ระบบนิเวศทางธรรมชาติยังคงความสมบูรณ์ อีกทั้งสัตว์ป่าหรือทะเลหายากก็จะไม่สูญพันธุ์และอยู่กับพวกเราตราบนานเท่านาน “ร้อยเอก รชฏ ผช.รมต.ทส. กล่าวย้ำ”
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในด้านการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 เป็นผู้รับผิดชอบดูแลครอบคลุมพื้นที่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่เนื่องด้วยทรัพยากรทางทะเลมีจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอต่อการดูแล จึงได้มีการจัดฝึกอบรมโครงการเพิ่มศักยภาพนักดำน้ำเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล หลักสูตร “การดำน้ำเบื้องต้น” ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลให้ร่วมมีบทบาทในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยหลักสูตรได้มีการเรียนภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติในสระและทางทะเล พร้อมกับมีการสอบภาคปฏิบัติบริเวณ หน้าเกาะสาก จังหวัดชลบุรี อีกทั้งร่วมดำน้ำสำรวจทรัพยากรทางทะเลและเก็บขยะทะเลตามแนวปะการัง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ซึ่งในแต่ละรุ่นจะมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ 20 คน จากการรายงานของกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2566 มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการหลักสูตรดำน้ำเบื้องต้น รวมจำนวน 251 คน และมีผู้ที่ผ่านหลักสูตร รวมจำนวนทั้งสิ้น 236 คน
จากสถิติเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล ในการดำเนินกิจกรรมเก็บขยะทะเลจากกิจกรรมสำคัญ ซึ่งสามารถเก็บขยะทะเลได้จำนวนทั้งสิ้น 3,970,756 ชิ้น น้ำหนักรวม 261,233.95 กิโลกรัม และเพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ผช.รมต.ทส. และตน จึงได้ร่วมดำน้ำเพื่อสำรวจระบบนิเวศทางทะเลและร่วมเก็บขยะทะเลตามแนวปะการัง บริเวณ เกาะริ้น จังหวัดชลบุรี สำหรับบริเวณดังกล่าวนับว่าเป็นจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อที่สุดในแถบนี้ โดยจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติลงไปสัมผัสความงดงามของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล อันเป็นแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี จากการสำรวจสถานภาพใต้ท้องทะเล พบว่ามีปะการังอ่อนหลากหลายชนิดที่มีสีสันสดใสต่างจากฝั่งอันดามัน หรือแนวปะการังหนาแน่นสุดทางหัวแหลมตอนใต้ อีกทั้งยังพบสัตว์ทะเลนานาชนิดน้อยใหญ่อาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเต่าทะเลที่แหวกว่ายอวดโฉมให้ได้เห็นอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังพบจำนวนขยะทะเลตามแนวปะการังเพียงเล็กน้อย เพราะเกาะริ้นอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองพัทยา และกรมฯ ได้มีนโยบายด้านการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดกิจกรรมเก็บขยะบนบกและกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลร่วมกับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ระบบนิเวศบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ จากนั้น ได้มีพิธีมอบใบประกาศเกียรติบัตรแก่ผู้ที่ผ่านโครงการฝึกอบรมดำน้ำเบื้องต้น โดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการฯ จะได้มีโอกาสร่วมเป็นนักดำน้ำอาสาสมัครของกรมฯ อีกทั้งได้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทางทะเล เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และยังสามารถนำทักษะการดำน้ำที่ถูกวิธีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย “ดร.ปิ่นสักก์ อทช. กล่าวทิ้งท้าย”
น้องออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง นางแบบและนักแสดง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการมาเรียนดำน้ำเบื้องต้นกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คืออยากเห็นทรัพยากรทางทะเลสะอาด ปราศจากขยะ รวมถึงเพิ่มทักษะในการดำน้ำอย่างถูกวิธี เพื่อในอนาคตจะได้นำทักษะและประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ได้ร่วมดำน้ำเก็บขยะตามแนวปะการัง บริเวณ เกาะริ้น ซึ่งตนรู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้เห็นปะการังบริเวณนี้ยังสมบูรณ์ และที่สำคัญมีสีสันสวยงามแปลกตา อีกทั้งได้เห็นสัตว์ทะเลน้อยใหญ่แหวกว่ายไปมา สุดท้ายนี้ ขยะที่เราทิ้งไม่ได้หายไปไหน แต่จะไหลลงสู่ทะเล สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศทางทะเล และสัตว์ทะเลหายาก หากต้องการให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่คู่กับท้องทะเล โปรดจงช่วยกันดูแล รักษา และร่วมกันจัดการขยะให้ถูกวิธี