กระทรวงวัฒนธรรม นำคณะผู้นำองค์การทางศาสนา ร่วมแสดงความยินดีจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คณะผู้บริหาร และคณะผู้นำองค์การทางศาสนา ทั้ง 4 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ เข้าร่วมแสดงความยินดีต่อ นายอรุณ บุญชม ในโอกาสได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งนายอรุณ บุญชม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 ซึ่งที่ประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบ ผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ได้เห็นชอบให้ นายอรุณ บุญชม กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี นั้น

ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญ ในการทำนุบำรุง และให้การอุปถัมภ์คุ้มครองกิจการด้านศาสนาทุกศาสนาที่ทางราชการรับรองรวมทั้งรับผิดชอบส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานและกิจกรรมด้านศาสนา ขององค์กรศาสนาต่างๆ รวมทั้งศาสนาอิสลาม โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดของศาสนาอิสลามในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติที่มีประวัติศาสตร์ความเกี่ยวข้องผูกพันกับภาครัฐมาอย่างยาวนาน มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในโอกาสนี้ กระผมขอแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของท่านจุฬาราชมนตรี และรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและองค์กรสูงสุดของศาสนาอิสลามซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริม คุณธรรมจริยธรรมของพี่น้องประชาชนจะได้ประสานงานและผนึกกำลังในการทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาสังคมไทยให้มีสันติสุขและอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกพระองค์เดียวกัน

รมว.วธ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในโอกาสนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำผู้นำทางทางศาสนา ทั้ง 4 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ เข้าร่วมแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือระหว่างศาสนาในการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของศาสนิกชนทุกศาสนาให้มีความมั่นคงด้วยสามัคคีธรรม เพื่อให้ทุกศาสนาในสังคมไทยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน อันเป็นการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ สืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความสามัคคี และร่มเย็นด้วยศาสนาที่แต่ละศาสนิกน้อมนำปฏิบัติ และสืบทอดได้อย่างเข้มแข็ง