สรพ. จับมือ สป.สธ. – สบส. เอ็มโอยูขับเคลื่อนมาตรฐานระบบบริการสุขภาพสถานพยาบาลภาครัฐ

สรพ. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงนามเอ็มโอยูร่วมกันขับเคลื่อนมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ หวังส่งเสริมหน่วยบริการภาครัฐพัฒนามาตรฐานระบบบริการสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มาตรฐานการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ มาตรฐานระบบบริการสุขภาพภาครัฐ และมาตรฐานสถานพยาบาลตามกฎหมาย สรพ.

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการด้านมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. เป็นผู้ลงนาม โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธี

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพยาบาลภาครัฐในการพัฒนามาตรฐานระบบบริการสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มาตรฐานการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ มาตรฐานระบบบริการสุขภาพภาครัฐ และมาตรฐานสถานพยาบาลที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง สรพ. ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพในอนาคต

พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบทบาทความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานภายใต้ พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 จะทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ กลไกและรูปแบบการจัดระบบบริการปฐมภูมิ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตและพัฒนากำลังคน พัฒนาระบบติดตามและบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ

ขณะที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะช่วยส่งเสริม พัฒนามาตรฐาน ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานระบบบริการสุขภาพให้กับสถานพยาบาลภาครัฐ ขณะที่ สรพ. จะทำหน้าที่ในการประเมินระบบงานและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลภาครัฐ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาล เพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพ

“ทั้ง 3 หน่วยงาน เราจะร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับรองมาตรฐานระบบบริการปฐมภูมิ มาตรฐานระบบบริการสุขภาพ และเกณฑ์การรับรองคุณภาพสถานพยาบาล อีกทั้งจะร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินมาตรฐานต่างๆ เพื่อบูรณาการจัดทำแผนขับเคลื่อนและพัฒนาสถานพยาบาลภาครัฐ แผนการเยี่ยมประเมิน แผนการตรวจประเมิน การอบรมพัฒนาบุคลากร และแผนการดำเนินงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง” พญ.ปิยวรรณ กล่าว