นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยส่งเสริมให้นำวัฒนธรรมไทยไปใช้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกม ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น แอนิเมชัน เป็นต้น เพื่อสนับสนุน Thailand Creative Content Agency (THACCA) ของรัฐบาลและสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับนานาชาติและดำเนินการตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564 ) เช่น การส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งเสริมการร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระหว่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรสาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการและบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ วธ.ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ประจำปี 2567 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติแล้ว โดยในปีนี้วธ.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการจัดกิจกรรมและเข้าร่วมงานเทศภาพยนตร์ในต่างประเทศ ได้แก่ 1. งาน Hong Kong International Film & TV Market เดือนมีนาคม 2567 2.งานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์นานาชาติฮ่องกง (Hong Kong International Licensing Fair) เดือนเมษายน 2567 3. การจัดงาน Thailand Culture Week ปี 2567 เดือนเมษายน 2567 ซึ่งทั้ง 3 งานนี้จะจัดขึ้น ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 4. งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส (Cannes Film Festival) เดือนพฤษภาคม 2567 ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส 5.งานเทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว เดือนพฤษภาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ 6.งาน Shanghai International Film Festival เดือนมิถุนายน 2567 ณ เมืองเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายเสริมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐบาลและวธ.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย เข้าร่วมเทศกาลและงานประกาศรางวัลนานาชาติ 3 เทศกาล ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม (International Film Festival Rotterdam: IFFR) ราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ ในเดือนมกราคม 2567 เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเทศกาลภาพยนตร์โอซาก้า (Osaka Asian Film Festival :OAFF) ครั้งที่ 19 ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2567 ด้วย
“วธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมและเข้าร่วมงานเทศภาพยนตร์ในต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์นำผลงานไปเผยแพร่และจัดจำหน่ายในระดับนานาชาติ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรในตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ เพิ่มช่องทางการตลาดและการเจรจาทางธุรกิจ จูงใจให้ชาวต่างชาติซื้อผลงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของคนไทย เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยและร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์กับผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเผยแพร่ Soft Power ของประเทศไทยในด้านอื่นๆ เช่น อาหาร ดนตรี มวยไทย ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว