กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย กล่าวถ้อยแถลงความสำเร็จการควบคุมยาสูบของไทย ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 10

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายแพทยนิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถ้อยแถลง (General Statement) ถึงความท้าทายและความสำเร็จของการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก : WHO-FCTC ครั้งที่ 10 (COP 10) ณ สาธารณรัฐปานามา โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ของโลก และประเทศแรกของเอเชียที่ประกาศใช้มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ (Plain Packaging) โดยการแสดงภาพคำเตือนพิษภัยบนซองบุหรี่ รวมถึงการทำให้อัตราการบริโภคยาสูบของคนไทยลดลงจาก ร้อยละ 21 ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 17 ในปี 2564 และในส่วนการรับมือการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ประเทศไทยจะยังคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันต่อไป

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 10 (COP 10) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ 2567 ณ เมืองปานามาซิตี้ สาธารณรัฐปานามา โดยมีรัฐภาคีเข้าร่วมถึง 183 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญ และผู้รับผิดชอบงานควบคุมยาสูบ ประกอบด้วย ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ  คุณบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมาภิบาลนานาชาติในการควบคุมยาสูบ  รศ.ดร.พญ เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ  นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย รองผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ  และ นายปริญญา ดาระสุวรรณ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนากฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ  ซึ่งการประชุมนี้จะจัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อให้รัฐภาคีได้ร่วมรับฟังนโยบาย ข้อเสนอแนะจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  (Expert group และ Working group) รายงานความก้าวหน้าทางวิชาการ และการรับทราบผลการดำเนินงาน ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการกำหนดมาตรการควบคุมรายการส่วนประกอบและเปิดเผยรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามมาตรา 9 และ 10 ของกรอบอนุสัญญา WHO-FCTC รวมถึงการกำหนดมาตรการห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขายผ่านสื่อออนไลน์แบบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการรับมือการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ถือเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนของประเทศสมาชิกทั่วโลก ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากธุรกิจยาสูบ ตามมาตรา 5.3 ซึ่งการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และการยกระดับมาตรการควบคุมยาสูบที่เหมาะสมของประเทศไทย โดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่จะมุ่งเน้นการสร้าง การรับรู้ นำไปสู่ความตระหนักเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน เพื่อนำไปสู่โรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป