อย. ร่วมหารือกับ ก.พ.ร. ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมภาคธุรกิจ ปรับแนวทางอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เน้นให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น ลดอุปสรรค (Faster, Easier, Less Barrier) และพร้อมพิจารณาอนุญาตได้ภายใน 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
จึงได้ร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งนำทีมโดย นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. เพื่อหารือประเด็นข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่อาจเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่ง อย. ให้การสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จึงได้ปรับข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์บางส่วนที่อาจเป็นข้อจำกัดให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น และลดอุปสรรค (Faster, Easier, Less Barrier) โดย อย. มีมาตรการให้ยื่นขออนุญาตผ่านระบบ e-Submission เพียงผู้ประกอบธุรกิจเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขออนุญาตให้ครบถ้วน ได้แก่ ข้อมูลฉลากสินค้าและรูปภาพ เอกสารแสดงความปลอดภัย หนังสืออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ และหนังสือมอบอำนาจ พร้อมบูรณาการข้อมูลกับกรมศุลกากรและกรมการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ติดตามดูแล ทั้งนี้ อย. พร้อมพิจารณาอนุญาตได้ภายใน 24 ชั่วโมง และแจ้งผลการพิจารณาแบบ Real time สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาเข้ามาใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์ในประเทศไทย ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร 1556 หรือ โทร 02- 5907000 ต่อ 79918 หรือ 79935 หรือ @import.fda (กองด่านอาหารและยา) หรือติดต่อด้วยตัวเองที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อาคาร OSSC (ช่อง 72)
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. มุ่งขับเคลื่อนองค์กร โดยสนับสนุนการประกอบธุรกิจ ให้ดำเนินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power และนโยบายการกระตุ้นของรัฐบาล พร้อมกันนี้ อย. ยังคงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งและยั่งยืน