โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จังหวัดน่าน จัด 14 คลินิก 23 กิจกรรมบริการ ที่ อ.สันติสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลลัพธ์ช่วยประชาชนเกือบ 4 พันรายได้เข้าถึงบริการโดยแพทย์เฉพาะทาง รอดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ 1,084 ราย นัดผ่าตัดตา 130 ราย ส่งต่อรักษาอีก 31 ราย ภาพรวมจากการจัดกิจกรรมแล้ว 8 ครั้ง ผู้ป่วยปลื้มใจ บางรายบอกเหมือนได้ชีวิตใหม่
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดของ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ที่บอกว่า “ยุคนี้เราเป็นหมอ เราต้องไปหาประชาชน” ประกอบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ทุกกระทรวงจัดกิจกรรมเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน และปีนี้ยังเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ โดยมุ่งเน้นโรคเฉพาะทางที่เป็นปัญหาและประชาชนเข้าถึงบริการได้น้อย อย่างน้อย 7 คลินิกหลัก ได้แก่ คลินิกคัดกรองมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ คลินิกทันตกรรม และคลินิกกระดูกและข้อ และเปิดโอกาสให้แต่ละจังหวัดเพิ่มเติมคลินิกเฉพาะทางที่สอดคล้องกับบริบทหรือวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จัดมาแล้ว 6 ครั้ง ที่ นครราชสีมา ลำพูน ลพบุรี สุราษฎร์ธานี กาฬสินธุ์ และแม่ฮ่องสอน และเมื่อวานนี้ (3 กุมภาพันธ์) ได้จัดอีก 2 ครั้ง ที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และ อ.สันติสุข จ.น่าน โดยของ จ.น่าน นอกจากบริการ 7 คลินิกหลัก ยังเพิ่มเติมอีก 7 คลินิก ได้แก่ คลินิกสุขภาพจิตและพัฒนาการเด็ก คลินิกตรวจคัดกรองวัณโรค คลินิก Advance NCD (ตรวจตา, EKG, Fundus) คลินิกตรวจการได้ยิน คลินิกกายอุปกรณ์ คลินิกตรวจคัดกรองโรคจากการทำงานและตรวจหาสารเคมีในเลือด และคลินิกตรวจคัดกรองนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมมี 23 กิจกรรมบริการ เน้นคัดกรองมะเร็งใระบบต่างๆ โรคทางหู ตา นิ้วล็อก ทำฟัน และขาเทียม ให้บริการประชาชนรวม 3,613 ราย และมีการคัดกรองมะเร็งลำไส้ (Fit Test) ไปก่อนหน้านี้ 1,084 ราย ไม่พบความเสี่ยง ส่วนการเตรียมรักษาต่อนั้น คลินิกสายตาผู้สูงอายุมีการนัดผ่าตัด 130 ราย และมีการส่งต่อรักษา 31 ราย ได้แก่ คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ/ท่อน้ำดี 23 ราย กายอุปกรณ์ 3 ราย คลินิกมะเร็งเต้านม 2 ราย ทำแมมโมแกรม 2 ราย และอัลตราซาวนด์ 1 ราย
“สำหรับผู้ให้บริการในโครงการนี้ มาจาก 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นแพทย์จากจังหวัดต่างๆ ในเขตบริการสุขภาพเดียวกัน ส่วนที่สองเป็นแพทย์จากกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์ ให้บริการตรวจแมมโมแกรม ตรวจมะเร็งเต้านม อัลตราซาวนด์ เป็นต้น และส่วนที่สามเป็นแพทย์จิตอาสาจากภาคประชาชน/โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา บอกจากจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้จำนวนมากแล้ว ผู้ป่วยหลายคนบอกว่าเหมือนได้ชีวิตใหม่ เช่น ผู้ป่วยตาต้อกระจกที่มองเห็นไม่ชัดมาถึง 3 ปี รวมทั้งผู้ป่วยที่ตรวจพบความผิดปกติ เช่น ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ 4 ราย ก็เป็นข้อมูลในการติดตามดูแลไม่ให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โดยเดือนกุมภาพันธ์จะมีการจัดกิจกรรมอีก 12 ครั้ง วันนี้จัดที่ รพ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ จำนวน 12 คลินิก ส่วนที่เหลือจะมีการแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป” นพ.ชลน่านกล่าว