รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลงาน 1 เดือน “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” 4 จังหวัด กระแสตอบรับดี ช่วยคนเข้าถึงบริการมากขึ้น ผู้ป่วยรับบริการข้ามเขตเพิ่มขึ้น 3% ภาพรวมให้บริการผ่าน Telemedicine 1,388 ครั้ง นัดหมายออนไลน์ 1,693 ครั้ง ส่งยาถึงบ้าน 2,288 ครั้ง ประกาศเดินหน้าเฟสสองอีก 8 จังหวัด เร่งประชุมติวเข้มการใช้งานทุกระบบ พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับ เล็งคิกออฟ มี.ค.นี้
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบนโยบายและปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม และกล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่คิกออฟระยะแรกใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากทุกภาคส่วน นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการสนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาล ที่ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวกมากขึ้น ด้วยการนัดหมายเข้ารับบริการผ่านระบบออนไลน์ รับบริการการแพทย์และเภสัชกรรมทางไกลจากที่บ้าน เลือกรับยาทางไปรษณีย์ ร้านยาใกล้บ้าน หรือใช้บริการ Health Rider ในการรับยาและเวชภัณฑ์ รับบริการตรวจเลือดที่ร้านแล็บใกล้บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางมายังโรงพยาบาล ช่วยลดระยะเวลารอคอยและยังช่วยลดภาระงานของบุคลากร เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพแบบไร้รอยต่อ สามารถเรียกดูประวัติการรักษาออนไลน์ที่จากทุกหน่วยบริการที่ผู้ป่วยเคยเข้ารับการรักษาได้ เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้การดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของข้อมูลสุขภาพอย่างรัดกุม
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงาน 1 เดือน พบว่า ประชาชนพึงพอใจในการรับบริการอย่างมาก เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการส่งยาที่บ้านซึ่งมีถึง 2,288 ครั้ง นัดหมายออนไลน์ 1,693 ครั้ง และทำ Telemedicine 1,388 ครั้ง ส่วนประเด็นที่มีความกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มภาระในโรงพยาบาลใหญ่ จากข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการ พบว่าผู้มารับบริการโดยไม่ใช้ใบส่งตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดทั้ง 4 แห่ง เพิ่มขึ้นประมาณ 3% ซึ่งอยู่ในระดับที่โรงพยาบาลรองรับการให้บริการได้ ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการประสบการณ์การดำเนินงานจาก 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อขับเคลื่อนระยะที่สองอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 พร้อมกับมีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับระบบการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระงานจนกระทบกับขวัญกำลังใจของบุคลากรผู้ให้บริการ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในระยะที่สอง ทั้งเรื่องของใช้งานระบบยืนยันตัวตน Health ID & Provider ID ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (PHR) ระบบหมอพร้อมสเตชัน หมอพร้อมแอปพลิเคชัน ไลน์หมอพร้อม ระบบบริการนัดหมายออนไลน์ การให้บริการการแพทย์ทางไกล การใช้ Digital Signature และใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ระบบใบสั่งยา/ใบสั่งแล็บออนไลน์ ระบบรับส่งยาทางไปรษณีย์ และ Health Rider การใช้ระบบ สอน.บัดดี้ และการบริหารจัดการผู้ใช้งาน แนวทางการเบิกจ่ายกองทุนสุขภาพ รวมถึงเรื่อง Cyber Security เพื่อให้ทั้ง 8 จังหวัดสามารถจัดทำแผนปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้บริหารและบุคลากรเข้าร่วมประมาณ 600 คน