ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ พร้อมรับฟังข้อร้องเรียน ผลักดันสถานีแก้หนี้ช่วยเหลือในเชิงพื้นที่

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ (รมช.ศธ.) ​เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2567​ ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ​ โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องสำรวจและสรุปข้อมูลหนี้สิน แยกประเภทเป็นหนี้วิกฤติ ใกล้วิกฤติ และปกติ เพื่อจะได้รวบรวมสรุปผลในภาพรวมนำเสนอในที่ประชุมฯ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำโปรแกรมออนไลน์ “ระบบแก้หนี้ สพฐ. (debt obec)” สำหรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ในสังกัด สพฐ.

ทั้งนี้​ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เป็นเอกภาพและสามารถรวบรวมข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับจำนวนหนี้ให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลกำหนดนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้ สพฐ. จัดทำระบบลงทะเบียนในภาพรวม โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้​ที่ประชุมได้รับทราบ สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาค สายด่วนการศึกษา 1579 จดหมาย รวมทั้งสิ้น 106 เรื่อง แบ่งเป็น ขอความอนุเคราะห์ใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือน ปี 2551 (รวมหนี้ให้อยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน) 60 เรื่อง, คดีความ ชะลอ ไกล่เกลี่ยชำระหนี้ 30 เรื่อง, อื่น ๆ เช่น ติดตามเรื่องหนี้สินครู ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอแนะจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 16 เรื่อง จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงมอบฝ่ายกฎหมายทุกหน่วยงานองค์กรหลัก (สป. สพฐ. สอศ. สกศ.) ติดตามกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด และกรณีเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ ได้ดำเนินการเร่งแจ้งสถานีแก้หนี้ในพื้นที่นั้น ๆ เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 โดยต้องพิจารณาปรับปรุงกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนที่ชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือเมื่อรวมหนี้แล้วห้ามไม่ให้หักเกินร้อยละ 70

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ในการประสานกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการลดภาระช่วยให้ลูกหนี้สามารถส่งคืนหนี้ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและรูปแบบการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมทั้งกำหนดค่างวดการส่งคืนเงินกู้ให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้ ตลอดจนใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้สวัสดิการได้ตามความจำเป็น