นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวแสดงความยินดีในการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ณ โถงรับรอง ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ทั้ง 4 ฝ่าย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ในการดำเนินการตามนโยบาย ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นการพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง เกิดความเท่าเทียม เพื่อสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษา ของสถานศึกษาในจังหวัดนนทบุรี โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในจังหวัดนนทบุรี สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในจังหวัดนนทบุรี และสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ในจังหวัดนนทบุรี
โดยทั้ง 4 หน่วยงานที่เข้าร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี ครั้งนี้ มีขอบเขตความร่วมมือและหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนทบุรี จัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่องทุกปีงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงานและการวางแผน เกิดความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จัดสรรครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้เกณฑ์พิเศษ หรือมีงบประมาณสนับสนุนจ้างครูอัตราจ้าง เพิ่มเติมในวิชาเอกที่ขาดแคลน สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สื่อ อุปกรณ์ และงบประมาณ ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และบริบทของโรงเรียนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ปัจจุบัน และสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดให้มีการพัฒนาโรงเรียนในแต่ละอำเภอหรือเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อนำร่องการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ เน้นการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน เช่น บ้าน (ครอบครัว) ผู้นำทางศาสนา และโรงเรียน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดให้มีการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Education for Career Readiness) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจัดการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคีในรูปแบบการเรียนรู้คู่การทำงาน (On the Job Learning) ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่เสียค่าใช้จ่าย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ด้วยการจัดการอาชีวศึกษาระดับวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค โดยมุ่งเน้น การผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็น เร่งด่วน ที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้อง กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ
โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ให้ผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษามีความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพได้ทันต่อความต้องการกำลังคนของประเทศ และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม และในส่วนของ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มีหน้าที่จัดการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ และส่งเสริมการอ่าน