กอนช. เผยศูนย์ฯน้ำส่วนหน้าภาคใต้ ลดผลกระทบน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ สั่งเร่งฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย

กอนช. เผยผลความสำเร็จของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ บูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นเอกภาพ ลดผลกระทบน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สั่งเร่งฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมกำชับทุกภาคส่วนเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในการรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำ

วันที่ 31 มกราคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ภายหลังการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้บูรณาการทำงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 อย่างเคร่งครัด โดยเมื่อวานนี้ (30 ม.ค. 67) ได้มีการประชุมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ของศูนย์ฯ โดย สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความคิดเห็นในการดำเนินงานของศูนย์ฯ วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค โดยสามารถสรุปประเด็นที่ควรนำไปปรับปรุงพัฒนาเป็น 4 ประเด็น ดังนี้ 1) การคาดการณ์ ต้องเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ข้อมูลต่างๆ อาทิ สภาพอากาศ ปริมาณฝน สภาพน้ำในลำน้ำ เป็นต้น 2) การแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ ควรเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน รวมทั้งการพัฒนารูปแบบและข้อมูลการสื่อสารให้เป็นเอกภาพใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายสะดวกต่อการสื่อสารส่งต่อได้รวดเร็ว 3) การบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ ควรนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการบริหาร รวมถึงต้องมีการซักซ้อมและวางแผนในทุกขั้นตอน และ 4) การให้ความช่วยเหลือ ควรเพิ่มความพร้อมด้านบุคลากรทั้งด้านจำนวนและความรู้ความเชี่ยวชาญ มีการวางแผนซักซ้อมและการประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือทุกขั้นตอน ทั้งการจัดตั้งจุดรวมพล จุดอพยพ และอื่นๆ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้เรื่องสาธารณภัยด้านน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ สทนช. เตรียมรวบรวมพื้นที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นได้เตรียมจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ฝน One Map โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. พบว่า สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้จะลดน้อยลงต่อเนื่อง อาจมีฝนตกเล็กน้อยในบางแห่ง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ อีกทั้งไม่พบพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม นอกจากนี้ปริมาณฝนของทั้ง 3 ลุ่มน้ำภาคใต้ ได้แก่ ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ตอนบน และลุ่มน้ำภาคใต้ตอนล่าง มีปริมาณฝนไม่มากที่จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มปริมาณของระดับน้ำ รวมทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง สามารถควบคุมและบริหารจัดการให้อยู่ในแผนปกติได้ ส่วนภาพรวมของพื้นที่ประสบอุทกภัยปัจจุบันเริ่มคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติและไม่พบพื้นที่น้ำล้นตลิ่งแล้ว ในวันนี้ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันในการยุติการดำเนินงานของศูนย์ฯ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามแต่ละหน่วยงานจะยังคงปฏิบัติภารกิจตามมาตรการรับมือฤดูฝนต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดฤดูกาล ทั้งการสำรวจและตรวจสอบความเสียหาย เพื่อเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งการเยียวยาด้านจิตใจให้กับประชาชนที่ประสบภัยด้วย

“หลังจากนี้ไปในพื้นที่ภาคใต้จะเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ซึ่งภาพรวมของปริมาณฝนทั้งประเทศและในพื้นที่ภาคใต้จะมีปริมาณต่ำกว่าค่าปกติ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยแล้งอย่างรัดกุม โดย สทนช. กำลังเดินหน้าขับเคลื่อน 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสำรวจและชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ได้ดำเนินการตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของการเตรียมพื้นที่พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อไป”