วันที่ 30 มกราคม 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ส่งเสริมศักยภาพให้กับนักกีฬาฟุตบอลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน การควบคุมสถานการณ์และการแก้ไขปัญหา รวมถึงการวิเคราะห์ผลสถิติต่างๆรอบด้าน โดยมีการทดสอบอย่างเป็นทางการในเกมส์นัดพิเศษระหว่างเชียงราย ยูไนเต็ดกับแดกู เอฟซีจากเกาหลีใต้ ณ สนามสิงห์ เชียงราย สเตเดียม จังหวัดเชียงราย
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ปัจจุบันระบบนำทางด้วยดาวเทียม หรือ Global Navigation Satellite System (GNSS) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีอวกาศที่ประชาชนได้นำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น การใช้ GNSS ด้านการขนส่ง การทำแผนที่ การวางผังเมืองและเศรษฐกิจ การแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง เพื่อส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดเล็ก และขนาดกลาง นอกจากนี้ ในต่างประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ร่วมกับกิจกรรมแข่งขันกีฬาสากลประเภททีมในรูปแบบกลางแจ้ง เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือ ฟุตซอล เพื่อติดตามและวิเคราะห์ผลข้อมูลในเชิงสถิติและกายภาพของนักกีฬาภายในทีม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผน เพื่อประเมินสถานการณ์และการพัฒนาปรับปรุงให้กับผู้เล่นในทีม นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฝูงชนรอบสนามทั้งในยามปกติและในยามคับขันไปพร้อมๆ กัน อีกด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมากในการเข้าระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบัน GISTDA และ The National Space Policy Secretariat (NSPS), Cabinet Office of the Government of Japan มีความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ และในระดับภูมิภาค ได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ Multi GNSS Asia Annual Conference 2024 ระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2567 โดยการประชุมดังกล่าวจะมีการนำเสนอการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการกีฬา ซึ่งจะมีการทดสอบให้กับนักฟุตบอลในเกมส์นัดพิเศษระหว่างเชียงราย ยูไนเต็ดกับแดกู เอฟซีจากเกาหลีใต้ ณ สนามสิงห์ เชียงราย สเตเดียม จังหวัดเชียงราย
เครื่องมือนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อติดตามและวิเคราะห์ประเมินผลนักกีฬาแบบรายบุคคล โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Digitalyst ติดไปกับเสื้อของนักฟุตบอล ซึ่งจะมีการเก็บรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ การจับความเร็ว แม๊กซิมั่มสปีด อัตราเร่ง ระยะทางทั้งหมดในการแข่งขัน ความหนาแน่นของพื้นที่สนาม ความเร็วของลูกฟุตบอล การประมวลผลของเครื่องนี้มีข้อมูลของนักเตะเจลีคและ บุนเดสลิกามาเป็นฐานให้เปรียบเทียบด้วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา สำหรับจุดเด่นของเครื่องนี้ที่เหนือกว่าตัวอื่นๆ ที่เคยมีการใช้งานมาก่อนหน้านี้คือ ค่าความคลาดเคลื่อนน้อยมาก เพียง 1 cm. error เท่านั้นโดย.ใช้ระบบดาวเทียมนำทางของประเทศญี่ปุ่น (QZSS) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีจากดาวเทียมจะเข้ามามีบทบาทต่อคนไทยมากขึ้น ทั้งในด้านของกีฬามืออาชีพ มือสมัครเล่น และกีฬาเยาวชน ซึ่งไม่ใช่แค่การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในกีฬาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการดำเนินชีวิตของคนไทยต่อไปด้วย