“กรมทรัพยากรน้ำบาดาล” ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาตั้งงบประมาณเจาะน้ำบาดาลซ้ำซ้อน

นายยงยุทธ นาควิโรจน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในฐานะโฆษกกรมทรัพยากรน้ำบาดาลชี้แจงกรณีที่มีบุคคลภายนอกกล่าวหาว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลทุจริตจากการตั้งงบประมาณเจาะน้ำบาดาลซ้ำซ้อน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ว่าไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย ตลอดจนประมาณการค่าใช้จ่ายในการเจาะน้ำบาดาลเป็นไปตามหลักเกณฑ์การขอรับการจัดสรรงบประมาณ และมาตรฐานราคากลางของสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางกำหนด ย้ำไม่มีเรื่องการทุจริตใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขอชี้แจงว่า สืบเนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการให้ข่าวและการสัมภาษณ์ของบุคคลภายนอกผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่ากรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการทุจริตค่าเจาะน้ำบาดาลโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ พื้นที่เกษตรขนาด 40 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยเบิกจ่ายงบประมาณการเจาะน้ำบาดาลซ้ำซ้อน รวมถึงการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าราคาแพงกว่าท้องตลาด จึงขอเรียนว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เมื่อมีการสื่อสารไปยังประชาชนในวงกว้าง อาจส่งผลกระทบทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เกิดความไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และเป็นการบั่นทอนกำลังใจของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อมิให้ประชาชนทั่วไปเกิดข้อสงสัย และอาจบานปลายจนกลายเป็นความเข้าใจผิด จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

1. การเบิกจ่ายงบประมาณการเจาะน้ำบาดาลซ้ำซ้อน

จากข้อกล่าวหาว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณเจาะน้ำบาดาลซ้ำซ้อน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 171,000 บาท นั้น ข้อเท็จจริงคือ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ พื้นที่เกษตรขนาด 40 ไร่ ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 มีการตั้งงบประมาณเจาะน้ำบาดาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสามารถเข้าไปดำเนินการเจาะน้ำบาดาลเอง โดยมีค่าใช้จ่ายตามรายการดังนี้

1. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลหมุนเร็ว สำหรับ 1 หน่วยเจาะน้ำบาดาล มีรถยนต์รวม 5 คัน ได้แก่ รถบรรทุกเครื่องเจาะ รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์ รถบรรทุกเล็ก (บริการ) และรถบรรทุกเครื่องอัดอากาศ

2. ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ช่วยเจาะอื่นๆ

3. ค่าวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ หัวเจาะ โคลนผง และท่อกรุ ท่อกรอง

4. ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักเจ้าหน้าที่

ดังนั้น ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการนี้ ก็จะมีสิทธิเบิกจ่ายงบประมาณจากโครงการดังกล่าว เพื่อไปปฏิบัติงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ประชาชนได้ โดยการประมาณการค่าใช้จ่ายเป็นการคำนวณราคาตามอัตราราคางานต่อหน่วย และเบิกจ่ายตามที่จ่ายจริง ซึ่งจะเบิกจ่ายจากแหล่งงบประมาณตามโครงการนี้เพียงโครงการเดียวเท่านั้น ไม่มีการเบิกจ่ายจากงบประมาณในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมหรือซ้ำซ้อนกันอย่างแน่นอน

2. การจัดซื้อเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าราคาแพงกว่าท้องตลาด

จากข้อกล่าวหาว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดซื้อเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ (Submersible pump) ขนาด 3 แรงม้า 380 โวลต์ และเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ขนาด 5 กิโลวัตต์ ราคาแพงเกินกว่าราคาในท้องตลาด ข้อเท็จจริงคือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตั้งงบประมาณโดยมีหลักการอ้างอิงหรือราคากลางและเป็นไปตามอัตราราคางานต่อหน่วย และบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ดังนี้

– การตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อและติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ (Submersible pump) ขนาด 3 แรงม้า 380 โวลต์ เป็นไปตามราคาอัตราราคางานต่อหน่วยที่กำหนดโดยกองมาตรฐานงบประมาณ 1 สำนักงบประมาณ โดยราคาดังกล่าวได้รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ท่อดูด และท่อส่ง วาล์วและข้อต่อต่างๆ สายไฟชนิดกันน้ำ ชุดควบคุมการสูบน้ำ

– การตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ขนาด 5 กิโลวัตต์ เป็นไปตามบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ที่กำหนดโดยกองมาตรฐานงบประมาณ 1 สำนักงบประมาณ

โฆษกกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อไปว่า ขอยืนยันว่าการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย ตลอดจนการประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการเจาะน้ำบาดาลเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานราคากลางของสำนักงบประมาณและการจัดซื้อเป็นไปตามกระบวนการพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 ของกรมบัญชีกลาง อย่างเปิดเผยและให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และไม่มีเรื่องการทุจริตใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

พร้อมข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลทุกคนยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติงานจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนอย่างไม่หยุดยั้ง แม้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในภาคสนาม หรือบางพื้นที่เป็นแหล่งหาน้ำยาก หรือต้องประสบปัญหาในการปฏิบัติงาน และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนกว่าจะพบแหล่งน้ำบาดาลเพื่อส่งมอบให้แก่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จะเข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และร่วมให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานที่พร้อมพิสูจน์ตนเองและมุ่งมั่นปฏิบัติงานต่อไปโดยไม่หวั่นไหวต่อคำกล่าวหาใดๆ ที่ไม่เป็นความจริง