กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพียงพอ

วันที่ 22 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (29 ม.ค.67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 55,329 ล้าน ลบ.ม. (72% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,808 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ  การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 10,833 ล้าน ลบ.ม. (50%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 3,653 ล้าน ลบ.ม. (60%)  ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 7.88 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 136 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.43 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 180 ของแผนฯ  ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้  เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด  จึงได้พิจารณาปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูก ไม่ให้ได้รับผลกระทบ  ส่วนพื้นที่ที่เพาะปลูกนาปรังรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ  ให้รอน้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูกครั้งต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากปริมาณน้ำที่มีจำกัด   พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่มีปริมาณการใช้น้ำสูง  ให้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด  เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและเกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้